บาลีวันละคำ

กิจนิมนต์ (บาลีวันละคำ 808)

กิจนิมนต์

อ่านว่า กิด-นิ-มน

กิจ” บาลีเป็น “กิจฺจ” (กิด-จะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ริจฺจ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ กรฺ และ ที่ ริจฺจ (ริจฺจ ลบ = อิจฺจ)

: กรฺ > + ริจฺจ > อิจฺจ : + อิจฺจ = กิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ (duty, obligation, service, attention; ceremony, performance)

กิจฺจ” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “กิจ” (กิด)

นิมนต์” คำบาลีถ้าเขียนตามรูปคำนี้ก็เป็น “นิมนฺต” (นิ-มัน-ตะ) มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + มนฺต (ธาตุ = ปรึกษา)

แต่ในบาลีเพียงแค่ นิ + มนฺต ยังเป็นคำที่ใช้งานไม่ได้ ต้องผ่านกระบวนการทางไวยากรณ์อีก คือ –

(1) ถ้าเป็นคำกริยา (ประถมบุรุษ เอกพจน์) รูปคำเป็น “นิมนฺเตติ” (นิ-มัน-เต-ติ) แปลว่า ส่งข่าว, เรียก, เชื้อเชิญ, คะยั้นคะยอ (to send a message, to call, summon, invite, coax)

(2) ถ้าเป็นคำนาม รูปคำเป็น “นิมนฺตน” (นิ-มัน-ตะ-นะ) กระบวนการทางไวยากรณ์ คือ นิ + มนฺต + ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน (อะ-นะ) : นิ + มนฺต + อน = นิมนฺตน แปลว่า การเชื้อเชิญ (invitation)

โปรดสังเกตว่า ในภาษาไทยคำนี้เขียนเป็น “นิมนต์” (ไม่มี -น ท้ายคำ) ใกล้เคียงกับ “นิมนฺตน” (มี -น ท้ายคำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิมนต์ : (คำกริยา) เชิญ, เชื้อเชิญ, (ใช้แก่พระภิกษุและสามเณร). (ป. นิมนฺต; ส. นิมนฺตฺร)”

กิจ + นิมนต์ = กิจนิมนต์ เป็นการเอาคำบาลีมาประสมกันแบบภาษาไทย คำเต็มๆ อาจเป็น “กิจ (คือการ) นิมนต์” หรือ “กิจ (อันเนื่องมาจากการ) นิมนต์”

กิจนิมนต์” เป็นคำที่ใช้พูดในหมู่พระภิกษุสามเณร หมายถึง มีผู้นิมนต์ (เชิญ) ให้พระภิกษุสามเณรไปในงานที่จัดขึ้น เช่น ไปเจริญพระพุทธมนต์ ไปฉันภัตตาหาร ไปแสดงธรรม หรือไปเพื่อทำกิจอื่นๆ อันสมควรแก่เพศภาวะของพระภิกษุสามเณร

ไปทำธุระส่วนตัว หรือไปโดยไม่ได้รับเชิญ ไม่เรียกว่า “กิจนิมนต์

กิจนิมนต์” ความหมายที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ – งานที่มีผู้เชิญไป

ตัวอย่างประโยคที่ใช้คำนี้ เช่น :

– หลวงพ่อไปกิจนิมนต์ ยังไม่กลับ

– พรุ่งนี้ไม่ว่าง ติดกิจนิมนต์

(ดูเพิ่มเติมที่ “อาราธนานิมนต์” บาลีวันละคำ (65) 9-7-55)

ทำความดี –

: อย่าให้มีคำว่าพอ

: และไม่ต้องรอให้ใครนิมนต์

——————

(ตามคำดักคอของพระคุณท่าน Sunant Pramaha)

#บาลีวันละคำ (808)

4-8-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *