บาลีวันละคำ

ทิฏฐินิชฌานขันติ (บาลีวันละคำ 2491)

ทิฏฐินิชฌานขันติ

ข้อ 8 ในกาลามสูตร: ตรงกับที่คิดไว้

อ่านว่า ทิด-ถิ-นิด-ชา-นะ-ขัน-ติ

หลักข้อที่ 8 ในกาลามสูตร มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีว่า “มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา” เขียนเป็นคำอ่านว่า มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา

แปลโดยประสงค์ว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีคือความคิดเห็นของตน

ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา” (ทิด-ถิ-นิด-ชา-นัก-ขัน-ติ-ยา) รูปคำเดิมคือ “ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ” (ทิด-ถิ-นิด-ชา-นัก-ขัน-ติ) ประกอบด้วยคำว่า ทิฏฺฐิ + นิชฺฌาน + ขนฺติ

(๑) “ทิฏฺฐิ” (ทิด-ถิ)

โปรดสังเกต “ทิฏฺฐิ” บาลีมีจุดใต้ ปฏัก รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ

: ทิสฺ + ติ = ทิสฺติ > ทิติ > ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)

ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด

ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” = ความเห็นผิดสมฺมาทิฏฺฐิ” = ความเห็นถูก

บาลี “ทิฏฺฐิ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกเขียนเป็น “ทิฐิ” แต่คงอ่านว่า ทิด-ถิ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก. (ป. ทิฏฺฐิ; ส. ทฺฤษฺฏิ).”

คำนี้เมื่อใช้ในภาษาธรรมยังมีผู้นิยมสะกดตามรูปคำเดิม ไม่ตัดตัวสะกด คือเขียนเป็น “ทิฏฐิ” (ไม่มีจุดใต้ ปฏัก)

(๒) “นิชฺฌาน” (นิด-ชา-นะ)

รากศัพท์มาจาก –

(1) นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + เฌ (ธาตุ = คิด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ), ซ้อน ชฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + ชฺ + เฌ), แปลง เฌ เป็น ฌา

: นิ + ชฺ + เฌ = นิชฺเฌ + ยุ > อน = นิชฺเฌน > นิชฺฌาน แปลตามศัพท์ว่า “ความปักใจคิด

(2) นิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) + ฌาปฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ไหม้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ), ซ้อน ชฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + ชฺ + ฌาป), ลบที่สุดธาตุ (ฌาปฺ > ฌา)

: นิ + ชฺ + ฌาปฺ = นิชฺฌาป + ยุ > อน = นิชฺฌาปน > นิชฺฌาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เผาข้าศึกคือนิวรณ์ให้หมดไป

นิชฺฌาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความเข้าใจ, การหยั่งเห็น, การสังเกตเห็น, การหยั่งรู้ (understanding, insight, perception, comprehension)

(2) ความพอใจหรือชอบใจ, ความกรุณา, ความพึงใจ, ความดีใจ (favour, indulgence, pleasure, delight)

โปรดสังเกตว่า “นิชฺฌาน” เป็นคนละคำกับ “ฌาน” แม้รากศัพท์จะคล้ายกัน แต่ความหมายต่างกัน

(๓) “ขนฺติ” (ขัน-ติ)

รากศัพท์มาจาก ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น นฺติ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: ขมฺ + ติ = ขมติ > ขมนฺติ > ขนฺติ

หรือจะว่า – ขมฺ + ติ แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ ก็ได้

: ขมฺ + ติ = ขมติ > ขนฺติ

ขนฺติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่อดทนได้” หมายถึง ความอดทน, ความอดกลั้น, การให้อภัย (patience, forbearance, forgiveness)

การประสมคำ :

(๑) ทิฏฺฐิ + นิชฺฌาน = ทิฏฺฐินิชฺฌาน (ทิด-ถิ-นิด-ชา-นะ) แปลว่า “การเพ่งด้วยทิฏฐิ

(๒) ทิฏฺฐินิชฺฌาน + ขนฺติ ซ้อน กฺ ระหว่างศัพท์ (ทิฏฺฐินิชฺฌาน + กฺ + ขนฺติ) = ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ (ทิด-ถิ-นิด-ชา-นัก-ขัน-ติ)

แทรกหลักความรู้ทางไวยากรณ์ :

ทำไมพยัญชนะที่ซ้อนแทรกระหว่าง ทิฏฺฐินิชฺฌาน + ขนฺติ จึงต้องเป็น ?

คำตอบคือ เพราะคำหลังคือ “ขนฺติ” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ (ขะ) พยัญชนะในวรรคนี้ประกอบด้วย (กะ ขะ คะ ฆะ งะ) เมื่อคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะในวรรคนี้ไปเป็นส่วนท้ายของคำสมาส ท่านให้ซ้อนพยัญชนะตัวแรกของวรรคในระหว่างคำ

ในที่นี้ “พยัญชนะตัวแรกของวรรค” คือ ดังนั้น จึงต้องซ้อน กฺ

: ทิฏฺฐินิชฺฌาน + กฺ + ขนฺติ = ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ (ทิด-ถิ-นิด-ชา-นัก-ขัน-ติ)

ในที่นี้ บาลีวันละคำขอสะกดแบบให้เห็นรูปคำตรงๆ ว่า “ทิฏฐินิชฌานขันติ” เป็นการเขียนแบบไทย อ่านว่า ทิด-ถิ-นิด-ชา-นะ-ขัน-ติ (-ชา-นะ– ไม่ใช่ -ชา-นัก– แบบบาลี) คือระหว่าง “นิชฌาน” กับ “ขันติ” ไม่ซ้อน กฺ ตามไวยากรณ์บาลี เพื่อหลีกเลี่ยงรูปคำ –นัก– ซึ่งอาจชวนให้เข้าใจผิดว่าเป็นอีกคำหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจาก “นิชฌาน” และ “ขันติ

ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา” (ทิด-ถิ-นิด-ชา-นัก-ขัน-ติ-ยา)

คัมภีร์อรรถกถาขยายความคำว่า “มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา” ว่า

(1) “อปรสฺส  จินฺตยโต  เอกา  ทิฏฺฐิ  อุปฺปชฺชติ  ยา  ยสฺส  ตํ  การณํ  นิชฺฌายนฺตสฺส  ขมติ  โส  อตฺเถตนฺติ  ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา 

คณฺหาติ.” (สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตนิกาย ภาค 2 หน้า 193)

แปลว่า: เชื่อเพราะตรงกับข้อสรุปที่คิดไว้ กล่าวคือ เมื่อใครคิดอะไรอยู่ ย่อมจะมีข้อสรุปได้อย่างหนึ่ง สำหรับคนที่คิดหาเหตุผลที่เป็นไปได้แล้ว ข้อสรุปนั้นก็ย่อมจะเป็นไปได้

(2) “อมฺหากํ  นิชฺฌายิตฺวา  ขมิตฺวา  คหิตทิฏฺฐิยา  สทฺธึ  สเมตีติปิ  มา  คณฺหิตฺถ.” (มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 2 หน้า 299)

แปลว่า: อย่าเชื่อโดยเห็นว่า-เรื่องนี้สอดคล้องกับความเห็นของเราที่ตรวจสอบจนได้ข้อยุติแล้ว

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แปล “มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา” เป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by the agreement with a considered and approved theory.

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ” ว่า delighting in speculation (ชอบการคาดคะเนหรือการเสี่ยง)

อภิปราย :

กาลามสูตรข้อนี้สอนว่า อย่าปลงใจเชื่อโดยอ้างว่า เรื่องนั้นตรงกับทฤษฎีคือความคิดเห็นของตน เช่น – นั่นยังไงล่ะ มันตรงกับที่ฉันคิดไว้ไม่ผิดเลย ใช่แน่แล้ว

ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า สิ่งที่ตรงกับความคิดของเราจะไม่เป็นความจริง สิ่งนั้นอาจเป็นความจริงได้ เพียงแต่ท่านสอนว่า อย่าเพิ่งเชื่อว่ามันต้องจริงเพียงเพราะมันตรงกับที่เราคิดไว้

ขอยกตัวอย่างประกอบ 2 กรณี

(๑) กรณีหลักวิชาความรู้:

เช่น ความคิดเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีเรื่องหนึ่ง เราเห็นว่ามันควรจะเป็นอย่างนี้ๆ หรือความหมายของนิพพานในพระพุทธศาสนา เราเข้าใจว่าเป็นเช่นนี้ๆ

ต่อมา มีคนมาอธิบายเรื่องนั้นตรงกับที่เราคิดพอดี เราจึงเชื่อว่าคำอธิบายนั้นเป็นความจริง เหตุผลที่เชื่อมีเพียงอย่างเดียวคือ-เพราะมันตรงกับที่เราคิด นี่คือ “ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา” แบบหนึ่ง

(๒) กรณีข้อเท็จจริงในเหตุการณ์:

นายแดงบอกนายดำซึ่งเป็นเพื่อนรักกันว่า เขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดแห่งหนึ่ง นายดำกล่าวว่า ถึงลงก็คงไม่ได้รับเลือก

เมื่อประกาศผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่านายแดงไม่ได้รับเลือก นายดำจึงว่า “กูว่าแล้ว

กูว่าแล้ว” ของนายดำนี่ก็คือ “ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา” = ตรงกับที่เราคิดไว้-อีกแบบหนึ่ง

กรณีนายแดงนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายแดงเปลี่ยนใจ ไม่ได้ลงสมัครตามที่บอกกับนายดำ (นายดำไม่ทราบข้อเท็จจริงนี้) นายแดงไม่ได้รับเลือกเพราะไม่ได้ลงสมัคร ไม่ใช่ลงสมัครแต่ไม่ได้รับเลือกอย่างที่นายดำเข้าใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

โปรดระลึกไว้เสมอว่า –

: เรื่องที่ตรงกับที่เราคิด

: อาจจะผิดได้หมดทุกเรื่อง

#บาลีวันละคำ (2,491)

8-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *