ภัพรูป (บาลีวันละคำ 2492)
ภัพรูป
ข้อ 9 ในกาลามสูตร: น่าเชื่อ
อ่านว่า พับ-พะ-รูบ
หลักข้อที่ 9 ในกาลามสูตร มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีว่า “มา ภพฺพรูปตาย” เขียนเป็นคำอ่านว่า มา ภัพพะรูปะตายะ
แปลว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ”
“ภพฺพรูปตาย” ภาษาบาลีอ่านว่า พับ-พะ-รู-ปะ-ตา-ยะ รูปคำเดิมเป็น “ภพฺพรูปตา” (พับ-พะ-รู-ปะ-ตา) ประกอบด้วยคำว่า ภพฺพ + รูป + ตา
(๑) “ภพฺพ” (พับพะ)
รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ภู > โภ > ภว), แปลง ว กับ ย เป็น พฺพ
: ภู + ณฺย = ภูณฺย > โภณฺย > ภวณฺย > ภวฺย > ภพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ควรเป็น”
“ภพฺพ” ในบาลีใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –
(1) สามารถ, เหมาะสำหรับ, สมควร (able, capable, fit for)
(2) เป็นไปได้ (possible)
(๒) “รูป” (รู-ปะ)
รากศัพท์มาจาก –
(1) รูปฺ (ธาตุ = ประกาศ) + อ ปัจจัย
: รูปฺ + อ = รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศสภาพของตน”
(2) รุปฺ (ธาตุ = เสื่อม, ทรุดโทรม) + อ ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ รุ-(ปฺ) เป็น อู (รุปฺ > รูป)
: รุปฺ + อ = รุป > รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ต้องเสื่อมไป”
“รูป” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง รูป, ทรวดทรง, รูปร่างหรือรูปพรรณสัณฐาน, หลักการเกี่ยวกับรูป ฯลฯ (form, figure, appearance, principle of form, etc.)
(๓) “ตา”
เป็นปัจจัยในภาวตัทธิต (ตัทธิต เป็นแขนงหนึ่งของบาลีไวยากรณ์ ว่าด้วยศัพท์ที่ใช้ปัจจัยต่อท้ายแล้วมีความหมายต่างๆ กันไป) นักเรียนบาลีเรียกกันว่า “ตา-ปัจจัย”
“ภาวตัทธิต” (พา-วะ-ตัด-ทิด) คือศัพท์ที่ลงปัจจัยจำพวกหนึ่ง (นอกจาก “ตา-ปัจจัย” แล้วยังมีปัจจัยอื่นอีก) มีฐานะเป็นคำนาม แปลว่า “ความ-” “ความเป็น-” หรือ “ภาวะ-” คล้ายกับ -ing -ness -tion ในภาษาอังกฤษ
เช่น “ธมฺมตา” (ทำ-มะ-ตา) = “ความเป็นแห่งธรรม” ที่เราเอามาใช้ว่า “ธรรมดา” นี่ก็คือ “ตา-ปัจจัย”
การประสมคำ :
(๑) ภพฺพ + รูป = ภพฺพรูป (พับ-พะ-รู-ปะ) แปลว่า “รูปร่างอันเหมาะสม” หมายถึง เหมาะที่จะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ คือเชื่อถือได้
(๒) ภพฺพรูป + ตา = ภพฺพรูปตา (พับ-พะ-รู-ปะ-ตา) แปลว่า “ภาวะแห่งสิ่งที่มีรูปร่างอันเหมาะสม”
“ภพฺพรูปตา” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ภพฺพรูปตาย” (พับ-พะ-รู-ปะ-ตา-ยะ) แปลว่า “เพราะความเป็นสิ่งที่มีรูปร่างอันเหมาะสม” = เพราะน่าเชื่อ
คัมภีร์อรรถกถาไขความคำว่า “ภพฺพรูปตาย” ว่า –
“อยํ ภิกฺขุ ภพฺพรูโป อิมสฺส กถํ คเหตุํ ยุตฺตนฺติปิ มา คณฺหิตฺถ.” (มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 2 หน้า 299)
แปลว่า: อย่าเชื่อโดยคิดว่า ภิกษุรูปนี้ท่าทางน่าเชื่อ คำของท่านเชื่อได้แน่
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แปล “มา ภพฺพรูปตาย” เป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by seeming possibilities.
ขยายความ :
กาลามสูตรข้อนี้สอนว่า อย่าปลงใจเชื่อโดยอ้างว่า ดูตามรูปการณ์แล้วน่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่ง หมายถึงอย่าเชื่อเพราะน่าเชื่อ เช่นพูดจาน่าเชื่อ แต่งเนื้อแต่งตัวน่าเชื่อ เหตุผลน่าเชื่อ หลักฐานน่าเชื่อ และอะไรๆ ที่น่าเชื่อทั้งหลาย
แต่ไม่ได้แปลว่า สิ่งที่เห็นว่าน่าเชื่อนั้นจะเชื่อไม่ได้ หรือเป็นเช่นนั้นไม่ได้ หรือเป็นไปไม่ได้ทุกกรณีไป สิ่งที่เห็นว่าน่าเชื่อและเป็นจริงตามที่เชื่อก็มีอยู่ แต่ที่ไม่เป็นจริงตามที่เชื่อก็มีอยู่เช่นกัน
วิธีธรรมดาสามัญที่สุดในการหลอกลวงกันในโลกนี้ก็คือวิธีทำเรื่องนั้นสิ่งนั้นให้น่าเชื่อที่สุด เพราะธรรมชาติของคนมักพอใจเชื่อสิ่งที่มองเห็นว่าน่าเชื่อ และร้อยทั้งร้อยของคนถูกหลอกก็เพราะเชื่อสิ่งที่เห็นว่าน่าเชื่อที่สุดนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนว่า ถ้าจะเชื่อก็ต้องมีเหตุผลอื่นๆ อีกนอกเหนือไปจาก-เพราะน่าเชื่อ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าท่านถูกหลอก
และท่านรู้ว่าท่านถูกหลอก
ท่านก็ยังไม่ถูกหลอก
: ถ้าท่านถูกหลอก
แล้วท่านเชื่อว่าท่านไม่ได้ถูกหลอก
นั่นแหละท่านถูกหลอกแล้ว
#บาลีวันละคำ (2,492)
9-4-62