บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความในใจของผม

ความในใจของผม

—————–

ส่วนที่หนึ่ง-คำขอบพระคุณ

เมื่อมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ ว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ พลเรือตรี เป็นกรณีพิเศษให้แก่กระผม ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ ก็ได้มีท่านที่เคารพนับถือ นับตั้งแต่พระมหาเถระ พระเถรานุเถระ พระภิกษุสามเณร นายทหารผู้ใหญ่ในกองทัพเรือและต่างเหล่าทัพ ผู้บังคับบัญชาในอดีต เพื่อนร่วมงานในอดีต ตลอดจนญาติมิตรทั้งที่อยู่ใกล้ชิดคบคุ้นกัน ไปจนถึงญาติมิตรที่อยู่ห่าง ตลอดจนมิตรสหายที่รู้จักกันทางช่องทางสื่อสารสมัยใหม่ ทั้งที่ได้เคยพบกันและที่ยังไม่เคยเห็นตัวจริงกันเลย เป็นจำนวนมากจนไม่สามารถที่จะเอ่ยนามได้หมดสิ้น ได้กรุณาแสดงน้ำใจไมตรีจิตต่อกระผมล้นหลามอย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน

เบื้องต้นเหนือสิ่งอื่นใด สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้

กราบขอบพระคุณในเมตตาธรรมของพระสงฆ์องค์เณรทั้งปวง เมตตาธรรมนี้เป็นสิริมงคลอย่างสูงสุดในชีวิตของกระผม

กราบขอบพระคุณท่านผู้ใหญ่ทั้งปวงที่มีเมตตาต่อกระผมเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้กระผมมีกำลังใจที่จะดำรงตนอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องดีงามให้มั่นคงยิ่งๆ ขึ้นตลอดไป

ขอบคุณมิตรสหายทั้งปวง ทั้งรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน ที่มีน้ำใจไมตรีจิตต่อผม ทั้งยังโยงใยไปถึงครอบครัวของผมอีกด้วย

กราบขออภัย และขออภัย ที่ผมตอบรับไม่ทั่วถึง ขอได้โปรดถือว่าคำขอบพระคุณนี้คือคำตอบรับน้ำใจไมตรีจิตของทุกๆ ท่านด้วยความเคารพและด้วยความซาบซึ้งอย่างยิ่ง

————

ส่วนที่สอง-ความรู้และความรู้สึก

ทหารเรา-โดยเฉพาะทหารเรือ-มีหลักนิยมว่า เมื่อมีคำสั่งเลื่อนยศหรือแต่งตั้งยศ ไม่ว่าในคำสั่งจะระบุว่าตั้งแต่วันที่เท่าไร ถ้ายังไม่ได้เข้าพิธีประดับเครื่องหมายยศ หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “พิธีประดับยศ” เราก็จะยังไม่ใช้คำนำหน้าชื่อเป็นยศใหม่ นั่นคือคงใช้ยศเดิมต่อไป เมื่อถึงวันที่ผู้บังคับบัญชากำหนดให้ทำพิธีประดับเครื่องหมายยศจึงจะใช้คำนำหน้าชื่อเป็นยศใหม่ได้ สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นเข้าทำพิธีประดับเครื่องหมายยศไม่ได้ เมื่อพิธีประดับยศได้กระทำเสร็จสิ้นแล้วก็มีสิทธิ์ใช้คำนำหน้ายศใหม่ได้เสมือนได้เข้าทำพิธีประดับเครื่องหมายยศเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

เทียบได้กับพระภิกษุที่สอบเปรียญธรรม ๓ ประโยคได้ แม้ผลสอบจะประกาศออกมาแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศ ก็จะยังใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” ไม่ได้ เมื่อจัดพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศแล้ว แม้จะไม่ได้เข้ารับพระราชทานด้วยเหตุจำเป็นใดๆ ก็ตาม จึงจะสามารถใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” ได้ คำต่อท้ายชื่อ ป.ธ.๓ ป.ธ.๔ … ก็ใช้หลักเดียวกัน จะเปลี่ยนตัวเลขตาม ป.ธ.ที่สอบได้ก็ต่อเมื่อมีพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศแล้ว

นี่เป็นหลักนิยม เป็นส่วนที่เป็นความรู้ (หลักการส่วนที่เป็นของคณะสงฆ์ที่ผมทราบมาแต่เดิมเป็นอย่างที่ว่านี้ แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหรือเปล่า)

………………

ผมเข้ารับราชการในกองทัพเรือเมื่อปี ๒๕๒๔ อายุ ๓๕ ในฐานะ “ข้าราชการกลาโหมพลเรือน” เมื่อเข้ารับการฝึกศึกษาในหลักสูตรฝึกอบรมวิชาทหาร (ข้าราชการกลาโหมพลเรือน รุ่นที่ ๑๗) แล้วได้รับพระราชทานยศ “เรือตรี” 

ผู้บังคับบัญชาได้เรียกไปซักประวัติ นับปีที่ครองยศ เช่นต้องเป็นเรือตรีกี่ปีจึงจะได้เลื่อนยศเป็นเรือโทเป็นต้น แล้วนับอายุ ไล่ไปเรื่อยๆ จนอายุ ๖๐ 

ผู้บังคับบัญชาบอกว่า เกษียณอายุราชการผมจะได้ครองยศ “นาวาโท” อัตราเงินเดือนเต็มขั้น 

ผมดีใจสุดชีวิต ขีดเพดานของตัวเองไว้ที่ “นาวาโทเต็มขั้น” ลูกชาวนาชั้น ๔ (คือชั้นที่ไม่มีนาเป็นของตัวเอง ต้องเช่าทุกอย่าง) เรียนมาทางพระ ไปจากวัด ได้เป็นถึง “นาวาโทเต็มขั้น” นับว่าเกินฐานะ ผมตั้งใจปฏิบัติราชการ อุทิศชีวิตให้กองทัพเรือตั้งแต่บัดนั้น 

ผมเกษียณอายุราชการเมื่อปี ๒๕๔๘ ครองยศ “นาวาเอก” อัตราเงินเดือนชั้นพิเศษ ที่มักเรียกกันว่า “นาวาเอก (พิเศษ)” ทะลุเพดานที่ขีดไว้อย่างไม่น่าเชื่อ 

………………

ปี ๒๕๒๕ ผมเข้าร่วมพิธีประดับเครื่องหมายยศครั้งแรกชั้นยศ “เรือตรี” ตัวเองอายุน้อยกว่าผู้บังคับบัญชาที่เป็นประธานในพิธี และอายุน้อยกว่านายทหารชั้นผู้ใหญ่ทุกคนที่เข้าร่วมพิธี 

ปี ๒๕๖๔ หลังจากเกษียณอายุราชการมาแล้ว ๑๖ ปี ผมเข้าร่วมพิธีซึ่งมีสถานะเท่ากับพิธีประดับเครื่องหมายยศชั้นยศ “พลเรือตรี” ครั้งล่าสุด ตัวเองอายุมากกว่าท่านผู้บัญชาการทหารเรือผู้เป็นประธานในพิธี และอายุมากกว่านายทหารชั้นผู้ใหญ่ทุกคนที่เข้าร่วมพิธี 

อันที่จริง ถ้าจะพูดให้ถูก ผมเป็นคนแก่เพียงคนเดียวในท่ามกลางคนหนุ่มคนสาวชาวทหารเรือในวันนั้น-๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๔

ความรู้สึกของผม รวมอยู่ในคำพูดสั้นๆ ว่า “ทหารเรือไม่ทิ้งกัน”

————

ส่วนที่สาม-ความในใจ

ผมพูด-เสมือนเป็นคำประกาศ-เสมอมา และพูดมานานแล้วว่า พ่อแม่ผมมี ๓ คู่

๑ คู่ที่หนึ่ง พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ให้ชีวิตเลือดเนื้อ และเลี้ยงดูให้รอดมาได้ 

๒ คู่ที่สอง พระพุทธศาสนาและวัด เป็นพ่อแม่ที่อบรมกล่อมเกลาให้ผมรู้จักผิดชอบชั่วดี ทำให้มีกำลังใจที่จะละชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส

๓ คู่ที่สาม ราชการและกองทัพเรือ เป็นพ่อแม่ที่หางานให้ผมทำ และเลี้ยงดูผมไม่ให้อดตาย ทำให้มีกำลังและมีเวลาที่จะทำประโยชน์ให้แก่โลกได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น

พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดท่านล่วงลับไปตั้งแต่ผมยังเด็ก ไม่มีโอกาสเลี้ยงดูตอบแทนท่าน ผมทำบุญอุทิศถึงท่านทุกวันไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว

พระพุทธศาสนาและวัด ผมอุทิศชีวิตนี้เพื่อทำประโยชน์ถวายอย่างสุดความรู้ความสามารถ จนกว่าจะหมดกำลัง

ราชการ-โดยเฉพาะกองทัพเรือ ผมถือว่าเป็นบ้าน และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต ผมปวารณารับใช้ตราบเท่าที่เห็นว่าผมยังมีกำลังและมีสติปัญญาพอที่จะรับใช้ได้

………………

ข้อปฏิบัติที่กล่าวมานี้ ก็คือหลักความรู้คุณ 

ความรู้คุณชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็รวมอยู่ในหลักนี้ด้วย

หลักความรู้คุณ หรือที่รู้จักกันในคำว่า “กตัญญู” นี้ มนุษย์เท่านั้นที่จะรู้ที่จะมีคุณธรรมข้อนี้ได้ สัตว์เดรัจฉานมันไม่รู้และไม่มี เพราะกายภาพและศักยภาพของสัตว์ทำได้มีได้อย่างจำกัด แต่มนุษย์มีศักยภาพสูงกว่าเพราะรู้จักคิดรู้จักใช้เหตุผล 

ถ้ามนุษย์ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” มนุษย์ก็จะไม่ประเสริฐไปกว่าสัตว์ ดังคำที่ท่านแสดงไว้ว่า –

…………………………….

ธมฺเมน หีนา ปสุภี สมานา.

เสื่อมจากธรรมเสียแล้ว มนุษย์ก็เสมอกับปศุ

…………………………….

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๗:๓๒

…………………………….

หมายเหตุ: ปกติผมไม่นิยมโพสต์รูปตัวเอง 

แต่ครั้งนี้ขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *