ปฏิสันถาร (บาลีวันละคำ 809)
ปฏิสันถาร
อ่านว่า ปะ-ติ-สัน-ถาน
บาลีเป็น “ปฏิสนฺถาร” อ่านว่า ปะ-ติ-สัน-ถา-ระ
“ปฏิสนฺถาร” รากศัพท์มาจาก ปฏิ (เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน, ทั้งหมด) + ถรฺ (ธาตุ = แผ่ไป, ปูลาด, ปกปิด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ
: ปฏิ + สํ + ถรฺ = ปฏิสนฺถร + ณ = ปฏิสนฺถาร แปลตามศัพท์ว่า “การปกปิดอาการที่ไม่สมควรไว้อย่างมิดชิด” หมายความว่า เมื่อต้องพบปะกับเพื่อนมนุษย์ก็เก็บกิริยาอาการความรู้สึกที่ไม่ชอบไม่พอใจที่อาจจะมีไว้ให้มิดชิด แสดงออกแต่อาการที่ดี
“ปฏิสนฺถาร” หมายถึง การต้อนรับฉันเพื่อน, การต้อนรับอย่างกรุณา, การให้เกียรติ, ไมตรีจิต, การสงเคราะห์, มิตรภาพ (friendly welcome, kind reception, honour, goodwill, favour, friendship)
“ปฏิสนฺถาร” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ปฏิสันถาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิสันถาร : (คำนาม) การทักทายปราศรัยแขกผู้มาหา (มักใช้แก่ผู้น้อย); การต้อนรับแขก”
เรามักเข้าใจกันแคบๆ ว่า ปฏิสันถารมีความหมายเพียงแค่การทักทายปราศรัย แต่ปฏิสันถารมีความหมายมากกว่านั้น
ในคัมภีร์อธิบายว่า ปฏิสันถารมี 2 อย่าง คือ –
(1) อามิสปฏิสันถาร (อา-มิด-สะ-) การต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่น น้ำดื่ม อาหาร ของขบเคี้ยวบริโภค เป็นต้น
(2) ธรรมปฏิสันถาร (ทำ-มะ-) การต้อนรับด้วยธรรม คือกล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำในทางธรรม อย่างนี้เป็นธรรมปฏิสันถารแบบธรรมดา ธรรมปฏิสันถารอย่างบริบูรณ์ คือ เอาใจใส่ช่วยเหลือสงเคราะห์ แก้ไขปัญหา บรรเทาข้อสงสัย ขจัดปัดเป่าข้อติดขัดยากลำบากเดือดร้อนทั้งหลาย ให้ผู้มาหาลุล่วงกิจอันเป็นกุศล พ้นความอึดอัดขัดข้อง
(พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต)
: ปกปิดสิ่งไม่ดี
: ก็ยังไม่ดีเท่ากับไม่มีสิ่งไม่ดีจะต้องปกปิด
#บาลีวันละคำ (809)
5-8-57