บาลีวันละคำ

พลีกรรม (บาลีวันละคำ 2489)

พลีกรรม

อ่านว่า พะ-ลี-กำ

ไม่ใช่ พฺลี-กำ

ประกอบด้วยคำว่า พลี + กรรม

(๑) “พลี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “พลี” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) พลี ๑ อ่านว่า พะ-ลี เป็นคำนาม หมายถึง การบวงสรวง, เครื่องบวงสรวง, ส่วย, การบูชา

(2) พลี ๒ อ่านว่า พฺลี (พฺล ควบกล้ำ) เป็นคำกริยา หมายถึง (1) เสียสละ เช่น พลีชีพเพื่อชาติ (2) บวงสรวงเชิญเอามา (ใช้แก่ยาสมุนไพร) เช่น ไปพลียาที่ต้นเทียน คือ ไปบวงสรวงเก็บต้นเทียนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นเทียนมาทำยารักษาโรค

(3) พลี ๓ อ่านว่า พะ-ลี เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง มีกําลัง

พลี” บาลีว่าอย่างไร

(๑) “พลี” ตามข้อ (1) บาลีเป็น “พลิ” อ่านแยกเป็น 2 พยางค์ คือ พะ-ลิ (เขียนเป็นอักษรโรมันจะเห็นชัด คือ BALI : BA = พะ LI = ลิ) มีความหมาย 3 อย่าง คือ –

1 เครื่องบวงสรวง, เครื่องเซ่น (religious offering, oblation)

2 ภาษี, อากร (tax, revenue)

3 ชื่อของอสูรตนหนึ่ง (proper name of an Asura)

(๒) “พลี” ตามข้อ (2) ไม่มีในบาลี สันนิษฐานว่าเป็น “พลี” ตามข้อ (1) นั่นเอง ความหมายเดิมคือ การจัดสรรทรัพย์หรือสิ่งของเพื่อบูชา สงเคราะห์ หรือเพื่ออุทิศ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราเอามาใช้ตามความหมายของไทย คือให้ความหมายว่า “เสียสละ”

ส่วนที่อ่านว่า พฺลี (พฺล ควบกล้ำ ไม่ใช่ พี และไม่ใช่ พะ-ลี) ก็คงเกิดจากการอ่านตามความเข้าใจผิดของบางคน คือไม่รู้ว่าคำเดิมเขาอ่านว่า พะ-ลี จึงอ่านไปตามความเข้าใจเองเองว่า พฺลี แล้วกลายเป็นความนิยมไป คือผิดจนถูกไปแล้ว

(๓) “พลี” ตามข้อ (3) ศัพท์เดิมก็คือ “พล” (พะ-ละ) ที่แปลว่า “กำลัง” (strength, power, force, an army, military force) เช่นคำว่า “พลศึกษา” หรือคำที่พูดควบกันว่า “พละกำลัง

: พล + อี = พลี แปลว่า “มีกำลัง” (strong) คำนี้อ่านว่า พะ-ลี 2 พยางค์แน่นอน เพราะคำเดิมคือ พะ-ละ

พลี” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “พลิ” (พะ-ลิ) เหมือนบาลี (ไม่ใช่ “พลี”) บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

พลิ : (คำนาม) ศุลก; ภาษี, ราชสวะ, พระราชทรัพย์; พลิทาน; การให้ทานอาหารแก่สรรพสัตว์; ด้ามแซ่ปัดแมลง; การฆ่าสัตว์บูชายัญหรือถวายเนื้อดิบแด่พระทุรคาเทวี; เดนหรือเศษอาหาร; สัตว์อันเหมาะแก่อาหุดีหรือพลิกรรมน์’ หนังย่น, หนังอันหดหู่ยู่ย่นในชราวัย; tax, royal revenue; an oblation, or religious offering in general; presentation of food to all created beings; the handle of a fly-flap; the sacrifice of an animal or raw flesh offered to the goddess Duragā; fragments of food left at a meal, &c.; an animal fit for an oblation; a wrinkle, skin shrivelled by old age.”

พลี” ในสันสกฤตก็คือ “พลี ๑” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

(๒) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ควบ กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม

กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

พลิ + กมฺม = พลิกมฺม (พะ-ลิ-กำ-มะ) แปลว่า “กรรมคือการบวงสรวง” หมายถึง การทำพลีกรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พลิกมฺม” ว่า offering of food to bhūtas, devas & others (การถวายอาหารอุทิศให้พวกภูต, พวกเทพ และพวกอื่นๆ”

ในภาษาไทยมีคำว่า “พลีกรรม” ซึ่งรูปคำตรงกับ “พลิกมฺม” ในบาลี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พลีกรรม [พะลีกํา]: (คำนาม) การบูชา, พิธีบูชา.”

ปกติ บาลีวันละคำเมื่อยกพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมาอ้างจะตัดคำอ่านออก แต่ในที่นี้ได้ยกคำอ่านติดมาด้วยเพื่อย้ำยืนยันว่า “พลีกรรม” ต้องอ่านว่า พะ-ลี-กํา ไม่ใช่ พฺลี-กํา

อภิปราย :

วันนี้ (6 เมษายน 2562) ทางราชการได้จัดให้มีพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน 107 แห่งตามโบราณราชประเพณี และทำพิธีพร้อมกันทุกจังหวัด เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมทำน้ำอภิเษกอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562

ในการนี้สื่อมวลชนทั้งหลายได้รายงานข่าวให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน

คำว่า “พลีกรรม” ซึ่งปรากฏในรายงานข่าว ผู้ประกาศส่วนมากออกเสียงว่า พฺลี-กำ คืออ่าน ควบกับ เหมือนในคำว่า “พลีชีพ” เป็นต้น ซึ่งเป็นการออกเสียงที่ผิด

คำว่า “พลีกรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านไว้ชัดเจนว่า พะ-ลี-กำ คือแยก พะ พยางค์หนึ่ง ลี อีกพยางค์หนึ่ง

กิจที่ทำในพิธีพลีกรรมตักน้ำก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดไปตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนั้นๆ เพื่อเชิญไปทำน้ำอภิเษกตามขั้นตอนต่อไป

พิจารณาจากกิริยาที่ทำอาจชวนให้เข้าใจไปว่า ตรงกับความหมายของคำว่า “พลี ๒” ที่ว่า “บวงสรวงเชิญเอามา” ซึ่ง “พลี” ตามความหมายนี้ออกเสียงว่า พฺลี (พฺล ควบกล้ำ) ไม่ใช่ พะ-ลี

ดังนั้น ที่ผู้ประกาศออกเสียงว่า พฺลี-กำ ก็น่าจะถูกต้องแล้ว

แต่เมื่อดูความหมายของ “พลี ๒” (ออกเสียงว่า พฺลี) ก็จะเห็นว่าพจนานุกรมฯ กำหนดความหมายไว้อย่างเฉพาะเจาะจง คือบอกไว้ในวงเล็บว่า “ใช้แก่ยาสมุนไพร” แล้วขยายความว่า “เช่น ไปพลียาที่ต้นเทียน คือ ไปบวงสรวงเก็บต้นเทียนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นเทียนมาทำยารักษาโรค.

จริงอยู่ การไปตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์อาจเทียบได้กับการไปเก็บต้นเทียนมาทำยา ซึ่งชวนให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่า “พลีกรรม” ต้องออกเสียงว่า พฺลี- (ตาม “พลี ๒”)

แต่นัยของการตักน้ำแตกต่างไปจากการเก็บเครื่องยา

การเก็บเครื่องยาถือกันว่าเป็นการไปเก็บเอาของที่มีผู้รักษาหวงแหนคือเจ้าป่าเจ้าเขาเป็นต้นซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของ จึงต้องทำพิธีบวงสรวงบูชาด้วยเจตนาที่จะขอเครื่องยาจากเจ้าของเสียก่อนที่จะเก็บเอา

แต่น้ำในสระน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว ไม่ต้องขอจากใคร พิธีพลีกรรมตักน้ำจึงไม่ใช่พิธีบวงสรวงบูชาเพื่อขอน้ำเหมือนขอเครื่องยา “พลีกรรม” จึงเป็น “พลี” ตามความหมายใน “พลี ๑” คือการบวงสรวงบูชาตามปกติ และ “พลี” ตามความหมายนี้ออกเสียงว่า พะ-ลี ไม่ใช่ พฺลี

ที่ว่ามานี้เป็นความพยายามที่จะอธิบายในเชิงวิชาการ เป็นการบอกเหตุผลว่าทำไมจึงต้องอ่านอย่างนั้นอย่างนี้

แต่ว่าตามตัวหนังสือแล้ว เพียงยกหลักฐานคือคำอ่านที่พจนานุกรมฯ ระบุไว้มาแสดงก็ถือว่ายุติได้แล้ว คือ ที่คำว่า “พลี ๑” ซึ่งอ่านว่า พะ-ลี พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า มีลูกคำคือ “พลีกรรม” ก็แสดงว่า “พลีกรรม” ต้องอ่านว่า พะ-ลี-กำ ซ้ำที่คำว่า “พลีกรรม” เองก็ยังบอกคำอ่านไว้ชัดเจนว่า พะ-ลี-กำ จึงถือว่ายุติเด็ดขาด

แต่ถ้าท่านผู้ใดไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่ว่ามา และไม่เห็นด้วยกับพจนานุกรมฯ ยังประสงค์จะให้ “พลีกรรม” อ่านว่า พฺลี-กำ เป็นคำอ่านที่ถูกต้อง วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ เสนอความเห็นไปยังราชบัณฑิตยสภาผู้รับผิดชอบการทำพจนานุกรมของชาติ ขอให้แก้ไขคำอ่านคำว่า “พลีกรรม” เสียใหม่ให้เป็นไปตามที่ท่านต้องการพร้อมแสดงเหตุผลประกอบไปด้วย เมื่อราชบัณฑิตยสภาเห็นชอบตามที่เสนอและประกาศแก้ไขคำอ่านใหม่แล้ว เราจึงค่อยออกเสียงตามที่แก้ไข

แนวทางของบัณฑิตหรือผู้เจริญแล้วย่อมประพฤติเช่นว่านี้

มิใช่อ่านกันตามความพอใจหรือตามที่เข้าใจเอาเองโดยไม่เคารพกฎเกณฑ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พิธีบรมราชาภิเษกเป็นงานศักดิ์สิทธิ์

: อย่าเอาคำพูดเพี้ยนเขียนผิดไปถวายความจงรักภักดี

#บาลีวันละคำ (2,489)

6-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *