บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สิ่งที่ไม่มีใครพรากไปได้

สิ่งที่ไม่มีใครพรากไปได้

————————

วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังล้างชาม ก็เกิดจินตนาการนี้ขึ้น 

จินตนาการอะไร ขอแวะนิดหนึ่งก่อน 

คือ ปกติอยู่บ้านกันสองคนตายายกับท่านอาจารย์ผู้หญิง เราจะแบ่งงานกันทำ อาจารย์ผู้หญิงทำหน้าที่เกี่ยวกับอาหารการกิน เสื้อผ้า ผมรับหน้าที่งานทำความสะอาด กวาดใบไม้รอบบ้าน ถูบ้านทุกวันโกน ขัดห้องน้ำ และงานประจำวันคือล้างชาม 

ผมชอบงานล้างชาม เป็นงานที่ให้อะไรดีๆ ล้างไป เจริญสติไป มองชามที่ล้างสะอาดเอามาเทียบกับการฝึกชำระจิตใจให้สะอาด กำหนดอิริยาบถย่อยที่เคลื่อนไหวในขณะที่หยิบ-จับ-ล้าง เอาสติตามจับไปทุกขณะ 

ผมไม่ได้ล้างเฉพาะชาม แต่ล้างอ่างล้างชามด้วย อ่างล้างชามบ้านผมจึงสะอาด ไม่มีคราบจับเขลอะตามขอบอ่าง โดยเฉพาะรูระบายน้ำก้นอ่าง ผมดึงหัวครอบรูขึ้นมาล้างด้วยทุกครั้ง ไม่มีเศษอาหารตกค้าง ไม่มีคราบจับเขละไปทั่วรู (เหมือนบ้านทั่วไป อิอิ) 

เวลาไปเยี่ยมลูกหลาน ไปค้างบ้านลูก ผมก็รับอาสาล้างชามให้ อย่างน้อยก็ได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่สังคมบ้าง

เอาละ ไปกันต่อ 

……………..

จินตนาการในขณะล้างชามของผมก็คือ ผมจินตนาการไปว่า การที่ผมมักท้วงติงเรื่องการเรียนบาลีของคณะสงฆ์นั้นทำให้มีผู้ไม่ชอบใจเป็นอันมาก

ข้อหาฉกรรจ์ก็คือ ผมทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อคณะสงฆ์ หมายความว่าคณะสงฆ์ท่านจะอยู่ของท่านไปเงียบๆ อยู่กันไปนิ่งๆ ไม่แก้ไม่ทำอะไร ผมก็ไปตะโกนบอกว่าควรจะทำนั่นทำนี่ น่ารำคาญ-อะไรประมาณนี้

ยังงี้เอาไว้ไม่ได้-จินตนาการบอกว่าท่านผู้มีอำนาจคิดอย่างนั้น 

ว่าแล้วก็มีผู้เสนอให้ถอดวุฒิเปรียญธรรม ๙ ประโยคของผมออกเสีย 

ทั้งนี้ให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ทางราชการคณะสงฆ์ประกาศผลสอบเป็นต้นมา 

ให้ยกเลิกประกาศนียบัตรเปรียญธรรม ๙ ประโยค รวมทั้งเปรียญธรรมทุกประโยคของพระมหาทองย้อย 

ให้ถือว่าคำนำหน้าชื่อสมัยเป็นพระว่า “พระมหาทองย้อย” เป็นโมฆะ 

ให้ถือว่าวุฒิเปรียญธรรม ๙ ประโยคในนาม “พระมหาทองย้อย” ที่ผมเอาไปสมัครสอบเข้ารับราชการในกรมศิลปากร และในกองทัพเรือ เป็นโมฆะ และการบรรจุเข้ารับราชการในหน่วยราชการดังกล่าวเป็นโมฆะ 

ให้ถือว่างานทุกอย่างที่ผมทำในตำแหน่ง “นักภาษาโบราณ” ในกรมศิลปากร เป็นเวลา ๓ ปี ๔ เดือน และในตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” ในกองทัพเรือเป็น เวลา ๒๕ ปี เป็นโมฆะ 

ให้เรียกคืนเหรียญตราทุกชนิดที่ทางราชการมอบให้ในระหว่างรับราชการ 

แล้วก็สั่งให้ทำอะไรอีกหลายอย่าง ดังที่ภาษาบาลีเรียกว่า ยสวิโลปฏฺฐานจฺฉินฺน เป็นต้น 

ยังแต่ไม่ได้สั่งให้เอาไปเป็น “ตะพุ่นหญ้าช้าง” เท่านั้น เพราะโทษตะพุ่นหญ้าช้างยกเลิกไปแล้ว 

……………

ถามว่า ที่ผมจินตนาการมาทั้งหมดนี้อาจเป็นจริงได้หรือไม่? 

ตอบว่า อาจเป็นจริงได้อย่างยิ่ง เพราะ “วโส อิสฺสริยํ โลเก” แปลว่า “อำนาจเป็นใหญ่ในโลก” 

คนมีอำนาจย่อมทำอะไรได้ทุกอย่าง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะควรทำหรือไม่ควรทำก็ตาม

แต่ในกรณีของผม-ตามที่จินตนาการมานี้-สิ่งหนึ่งที่ผู้มีอำนาจไม่สามารถทำได้ก็คือ ริบความรู้ หรือยกเลิกความรู้ของผมที่ได้อบรมสั่งสมมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในภาษาบาลีที่ผมพอจะมีอยู่บ้างสำหรับใช้ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนาและอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

ความรู้ที่พอมีอยู่บ้างนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะริบเอาไป หรือประกาศยกเลิก หรือประกาศให้เป็นโมฆะได้ 

จะมาบังคับให้ผมอ่านภาษาบาลีไม่รู้เรื่อง อ่านพระไตรปิฎกไม่ออก หรือจะมาบังคับให้ผมไม่รู้วินัยพระ ขบธรรมะไม่เป็น ก็ไม่ได้

……………

เห็นไหมครับว่า เอาเข้าจริงๆ หรือในที่สุดแล้ว สาระที่แท้จริงของการเรียนบาลีก็คือ ความรู้ความเข้าใจในหลักพระธรรมวินัย จนสามารถวินิจฉัยได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรห้ามทำ อะไรต้องทำ อันจะเป็นพื้นฐานในการบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม

อื่นจากนี้ หาใช่ไม่ 

แล้วลองใคร่ครวญ พิจารณา ตรึกตรองกันดูเถิดว่า ทุกวันนี้เรากำลังไขว่คว้าหา “สาระที่แท้จริง” กันอยู่ หรือกำลังทำ “สิ่งอื่นจากนี้” กันอยู่

“สิ่งอื่นจากนี้” ใครเขาให้เราได้ เขาก็เอาคืนได้ 

แต่ “สาระที่แท้จริง” จะอยู่กับเรา รับใช้เรา เป็นอุปกรณ์ให้เราใช้บำเพ็ญบุญเพื่อประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพานไปได้ตลอดกาลนาน

ไม่มีใครเอา “สาระที่แท้จริง” ไปจากเราได้ 

เว้นเสียแต่เราจะมองไม่เห็นคุณค่าของสาระที่แท้จริงนั้นเสียเอง หรือไพล่ไปมองว่าสิ่งอื่นจากนี้เป็นสาระมากกว่า

………………….

ผมจินตนาการจบ ก็ล้างชามเสร็จพอดี! 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ เมษายน ๒๕๖๒

๑๗:๓๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *