บาลีวันละคำ

อิติกิระ (บาลีวันละคำ 2484)

อิติกิระ

ข้อ 3 ในกาลามสูตร: ข่าวลือ

อ่านว่า อิ-ติ-กิ-ระ

หลักข้อที่ 3 ในกาลามสูตร มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีว่า “มา อิติกิราย” เขียนเป็นคำอ่านว่า มา อิติกิรายะ

แปลว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือโดยการเล่าลือ

อิติกิราย” (อิ-ติ-กิ-รา-ยะ) รูปคำเดิมคือ “อิติกิร” (อิ-ติ-กิ-ระ) ประกอบด้วยคำว่า อิติ + กิร

(๑) “อิติ” (อิ-ติ)

เป็นคำจำพวกนิบาต ลักษณะพิเศษของคำนิบาตคือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมอยู่เสมอ แต่ในกรณีที่สนธิกับคำอื่นอาจกลายรูปและเสียงได้ แต่เมื่อแยกคำแล้วยังคงเป็นรูปเดิม

ถ้าจะแสดงรากศัพท์ ท่านว่า “อิติ” มาจาก อิ (ธาตุ = ไป) + ติ ปัจจัย

: อิ + ติ = อิติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “สิ่งที่ไป” “สิ่งเป็นเครื่องไป

ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “อิติ” เป็นไทยว่า –

(1) เพราะเหตุนั้น, เพราะเหตุนี้

(2) ว่าดังนี้

(3) ด้วยประการนี้

(4) ชื่อ

(5) คือว่า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “อิติ” เป็นภาษาอังกฤษแบบคำตรงๆ แต่บอกไว้ว่า –

(1) “thus” (เช่นนั้น)

(2) “thus, in this way” (เช่นนั้น, ในทำนองนี้)

(3) “so it is that” (เรื่องเป็นเช่นนี้คือ)

(๒) “กิร” (กิ-ระ)

เป็นคำจำพวกนิบาตเช่นเดียวกัน นักเรียนบาลีท่องจำกันมาว่า “กิร = ได้ยินว่า

กิร” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) จริงๆ, แน่นอน, แน่แท้ (really, truly, surely)

(2) สันนิษฐานว่า, ได้ยินว่า (presume, hear)

(3) ทีนี้, แล้วก็, นี่แหละ (now, then, you know)

การประสมคำ :

(๑) อิติ + กิร = อิติกิร (อิ-ติ-กิ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ได้ยินมาว่าดังนี้

(๒) อิติกิร + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = อิติกิรา (อิ-ติ-กิ-รา)

ความหมายของ “อิติกิรา” ก็คือ “คนพูดกันว่า” (people say) หรือ “ฉันได้ยินมาว่า” (I have heard) เรียกสั้นๆ ว่า คำเล่าลือ หรือข่าวลือ (hearsay) รวมทั้งข่าวสารทั่วไปที่เราได้ยินได้ฟังในชีวิตประจำวัน

อิติกิรา” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิติกิราย” (อิ-ติ-กิ-รา-ยะ)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แปล “มา อิติกิราย” เป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by hearsay.

อภิปราย :

สมัยโบราณ เมื่อจะบอกกล่าวกันว่า “ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร” ย่อมใช้วิธีพูดให้กันฟังเป็นพื้น คือจากปากสู่หู นี่คือที่มาของคำว่า hearsay (พูดให้ฟัง, ฟังที่เขาพูดมา)

ฟังจากคนหนึ่งแล้วก็เอาไปพูดให้คนอื่นฟังต่อไปอีกตามธรรมชาติของคนที่รู้อะไรมาก็มักอยากจะบอกคนอื่นต่อไป กิจการสื่อสารหรืออาชีพการเสนอข่าวมีกำเนิดมาจากธรรมชาติพื้นๆ นี่เอง

แต่เมื่อถ่ายทอดต่อกันไปเรื่อยๆ ความผิดเพี้ยนไปจากเรื่องเดิมย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ดังที่เล่าเป็นตัวอย่างล้อเลียนว่า ชาวประมงทางภาคใต้เห็นปลาฉลามมาเกยตื้น หัวโตเท่าบาตร อีกหลายวันต่อมาข่าวนั้นจึงแพร่มาถึงภาคกลางว่า ปลาพะยูนมาเกยตื้น หัวโตเท่าสนามหลวง

ธรรมชาติของคนทั่วไปมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อเรื่องที่มีคนพูดกันมากๆ เหตุผลก็คือ มันเป็นข่าวที่คนเขาพูดกันทั่วไปหมด ถ้าไม่จริงคนเขาจะพูดกันหรือ บางทีก็แถมคำเก่าเข้าไปด้วยว่า “ไม่มีมูลฝอย หมาไม่ขี้” หมายความว่าถ้าไม่มีอะไรจริงอยู่บ้างคนเขาจะเอาที่ไหนมาพูด

และเพราะธรรมชาติของคนมักตื่นเต้นกับคำเล่าลือ จึงเป็นโอกาสให้คนทุจริตสร้างข่าวลือขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองบ้าง เพื่อทำลายผลประโยชน์ของผู้อื่นบ้าง เพื่อทำลายชื่อเสียงของคนอื่นบ้าง โดยหวังผลว่า ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อออกเป็นข่าวไปแล้วก็ต้องมีคนฟัง ฟังแล้วก็ต้องมีคนเชื่ออยู่บ้าง กว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นข่าวเท็จ ผลที่เกิดขึ้นก็สมประโยชน์ของคนสร้างข่าวไปเรียบร้อยแล้ว

เพราะความจริงเป็นเช่นนี้ หลักคำสอนในกาลามสูตรจึงกล่าวว่า “มา อิติกิราย = อย่าได้ยึดถือโดยการเล่าลือ” คืออย่าเชื่อข่าว-โดยเฉพาะข่าวลือ

ข้อควรระวังก็คือ เมื่ออ้างกาลามสูตรข้อนี้ อย่าเอาไปพูดว่า “กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อข่าว

กาลามสูตรไม่ได้สอนว่า-อย่าเชื่อข่าว แต่สอนว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะเห็นว่ามันเป็นข่าวที่คนเขาพูดกันทั่วไป เพราะการที่ที่มีคนเอามาพูดกันมากๆ นั้น ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่าจะต้องเป็นเรื่องจริงเสมอไป

แถม :

เราห้ามไม่ให้คนสร้างข่าวเท็จไม่ได้

แต่เราห้ามตัวเองไม่ให้เชื่อข่าวเท็จได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านเป็นคน “น่า” ไหนในข่าวเท็จ?

: คนที่เชื่อข่าว เป็นคนน่าสงสาร

: คนที่แพร่ข่าว เป็นคนน่าสังเวช

: คนที่สร้างข่าว เป็นคนน่าทุเรศ

#บาลีวันละคำ (2,484)

1-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *