บาลีวันละคำ

ปรัมปรา [2] (บาลีวันละคำ 2483)

ปรัมปรา [2]

ข้อ 2 ในกาลามสูตร: ธรรมเนียมประเพณี

อ่านว่า ปะ-รำ-ปะ-รา

หลักข้อที่ 2 ในกาลามสูตร มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีว่า “มา ปรมฺปราย” เขียนเป็นคำอ่านว่า มา ปะรัมปะรายะ

แปลว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือโดยการถือสืบๆ กันมา

ปรมฺปราย” (ปะ-รำ-ปะ-รา-ยะ) รูปคำเดิมคือ “ปรมฺปรา” (ปะ-รำ-ปะ-รา) มาจาก ปร + ปร

ปร” บาลีอ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก (แทนศัพท์ หึสา = เบียดเบียน) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ

: + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” ในที่นี้หมายถึง –

(1) อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (another, other)

(2) ศัตรู, ปรปักษ์ (enemies, opponents)

ในที่นี้ “ปร” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

การประสมคำ :

(๑) ปร + ปร ลงนิคหิต (อํ) ที่ ปร คำหน้า แล้วแปลงนิคหิตเป็น มฺ

: ปร + อํ + ปร = ปรํปร > ปรมฺปร (ปะ-รำ-ปะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “อื่นและอื่น

(๒) ปรมฺปร + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = ปรมฺปรา (ปะ-รำ-ปะ-รา)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปรมฺปรา” ว่า “after the other” = “หลังอีกสิ่งหนึ่ง” หมายความว่า มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น หลังจากสิ่งนั้นก็มีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอีก แล้วก็มีอีกสิ่งหนึ่งเกิดต่อๆ กันไปอีก

ปรมฺปรา” จึงแปลว่า การต่อเนื่อง, ความสืบเนื่อง, เรื่องที่บอกเล่าสืบๆ กันมา, สิ่งที่ทำตามๆ กันมา (succession, series)

ปรมฺปรา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปรัมปรา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปรัมปรา : (คำวิเศษณ์) สืบ ๆ กันมา, เก่าก่อน. (ป., ส.).”

ปรมฺปรา” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปรมฺปราย” (ปะ-รำ-ปะ-รา-ยะ)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แปล “มา ปรมฺปราย” เป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by tradition.

อภิปราย :

ความหมายรวบยอดของคำว่า “ปรมฺปรา” ในภาษาบาลีควรจะตรงกับคำอังกฤษว่า tradition คือ ธรรมเนียมประเพณี

ธรรมเนียมประเพณีย่อมเป็นสิ่งที่ผู้คนนิยมเชื่อถือปฏิบัติสืบต่อกันมา คนส่วนมากมักอ้างว่า อะไรที่มีคนปฏิบัติสืบกันมาช้านานแล้ว ถ้าไม่ดีจริงคงอยู่มานานถึงป่านนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธรรมเนียมประเพณีจึงเป็นสิ่งที่ควรเชื่อถือและปฏิบัติตาม

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ จึงมักมีการอ้างกันว่า – ต้องเชื่อเพราะมันเป็นธรรมเนียมประเพณี

กาลามสูตรสอนว่า “อย่าได้ยึดถือโดยการถือสืบๆ กันมา” หมายความว่า อย่าเชื่อหรืออย่าทำเพียงเพราะเห็นว่าเป็นธรรมเนียมประเพณี ประเพณีนั้นไม่จำเป็นจะต้องน่าเชื่อถือหรือถูกต้องเสมอไป แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ประเพณีนั้นเชื่อถือไม่ได้เลย ประเพณีที่เชื่อได้ก็มี ที่เหลวไหลก็มาก

ท่านมุ่งหมายแต่เพียงว่า อย่าเห็นว่าเป็นธรรมเนียมประเพณีก็เลยเชื่อเสียทั้งหมดเท่านั้นเอง

ถ้าเรื่องนี้เพิ่งทำกันมาเมื่อไม่นานมานี้ ก็จะไม่เชื่อหรอก แต่นี่เขาทำกันมาเป็นร้อยๆ ปี หรือเป็นพันๆ ปีมาแล้ว จะไม่ให้เชื่อได้อย่างไร – อย่าอ้างแบบนี้

ข้อควรระวังก็คือ เมื่ออ้างกาลามสูตรข้อนี้ อย่าเอาไปพูดว่า “กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อธรรมเนียมประเพณี

กาลามสูตรไม่ได้สอนว่า-อย่าเชื่อธรรมเนียมประเพณี แต่สอนว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะเห็นว่ามันเป็นธรรมเนียมประเพณี

อย่าเชื่อธรรมเนียมประเพณี” กับ “อย่าเชื่อเพียงเพราะเห็นว่ามันเป็นธรรมเนียมประเพณี” ความหมายต่างกัน ต้องแยกให้ถูก

ดูเพิ่มเติม: “ปรัมปรา” บาลีวันละคำ (233) 28-12-55

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนที่ดูถูกกำพืด

: เมื่อถึงวันที่คุณรู้ว่าอนาคตมืด –

คุณก็มองไม่เห็นอนาคตเสียแล้ว

#บาลีวันละคำ (2,483)

31-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *