นาฏศิลป์ (บาลีวันละคำ 1,574)
นาฏศิลป์
อ่านว่า นาด-ตะ-สิน
ประกอบด้วย นาฏ + ศิลป์
(๑) “นาฏ”
บาลีอ่านว่า นา-ตะ รากศัพท์มาจาก นฏฺ (ธาตุ = ฟ้อนรำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ น-(ฏฺ) เป็น อา (นฏฺ > นาฏ)
: นฏฺ + ณ = นฏณ > นฏ > นาฏ แปลตามศัพท์ว่า “การฟ้อนรำ”
มีคำขยายความว่า –
“นจฺจํ วาทิตํ คีตํ อิติ อิทํ ตูริยตฺติกํ นาฏนาเมนุจฺจเต = การดนตรี 3 ประการนี้ คือ การฟ้อนรำ การบรรเลง การขับร้อง เรียกโดยชื่อว่า นาฏะ”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาฏ, นาฏ– : (คำนาม) นางละคร, นางฟ้อนรํา, ใช้ประกอบกับคําอื่น หมายความว่า หญิงสาวสวย เช่น นางนาฏ นุชนาฏ. (ป., ส.).”
“นาฏ” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นาฏ : (คำนาม) การฟ้อนรำ, การเต้นรำ, การเล่น (เช่นลครเปนอาทิ); แคว้นกรรณาฏ; dancing, acting; the Carnatic.”
ในบาลีมีคำว่า “นาฏก” (นา-ตะ-กะ) อีกคำหนึ่ง หมายถึง –
(1) นักฟ้อน, นักแสดง, ตัวละคร (a dancer, actor, player)
(2) ละคร, ละครจำพวกออกท่าทาง แต่ไม่เจรจา (a play, pantomime)
“นาฏก” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นาฏก : (คำนาม) ผู้แสดงบทลคร, ตัวลคร, ผู้เล่น; การแสดง (หรือเล่นลคร), การฟ้อนรำ; การเล่น, ลคร; เทพสภาหรือเทพสถานของพระอินทร์; a actor, acting, dancing; a play, a drama; the court of Indra.”
(๒) “ศิลป์”
เป็นรูปคำสันสกฤต “ศิลฺป” บาลีเป็น “สิปฺป” (สิบ-ปะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สปฺปฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, ลง อิ อาคมต้นธาตุ (สปฺป > สิปฺป)
: สปฺป > สิปฺป + อ = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไปแห่งชีวิต” = อาศัย “สิ่งนั้น” จึงเลี้ยงชีวิต คือทำชีวิตให้ดำเนินไปได้
(2) สิ (ธาตุ = เสพ) + ป ปัจจัย, ซ้อน ปฺ
: สิ + ปฺ + ป = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ปรารถนาประโยชน์แห่งตนเสพอาศัย” = ถ้าต้องการประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องอาศัยศึกษาเรียนรู้ “สิ่งนั้น” จนทำได้ทำเป็น แล้วใช้สิ่งนั้นยังประโยชน์ให้เกิดตามต้องการ
“สิปฺป” หมายถึง ศิลปะ, แขนงของความรู้, การช่าง (art, branch of knowledge, craft)
สิปฺป ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น ศิลป
(ก) คำนี้ถ้าอยู่คำเดียว
– ต้องการให้อ่านว่า สิน-ละ-ปะ เขียนว่า “ศิลปะ” (ประวิสรรชนีย์ที่ ป)
– ต้องการให้อ่านว่า สิน เขียนว่า “ศิลป์” (การันต์ที่ ป)
– เขียนว่า “ศิลป” จะอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ได้ อ่านว่า สิน ก็ไม่ได้
(ข) ถ้าสมาสกับคำอื่น อยู่ต้นหรือกลางคำ และอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ ป เช่น ศิลปศาสตร์ (สิน-ละ-ปะ-สาด) ไม่ใช่ ศิลปะศาสตร์
คำว่า สิปฺป > ศิลป หมายถึงอะไรได้บ้าง :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิปฺป” คำหนึ่งว่า art
พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล art ว่า วุฒิสามารถ, เล่ห์กระเทห์, อุบาย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล art กลับเป็นบาลีว่า –
(1) sippa สิปฺป (สิบ-ปะ) = หลักความรู้
(2) kosalla โกสลฺล (โก-สัน-ละ) = ความฉลาด
(3) nepuñña เนปุญฺญ (เน-ปุน-ยะ) = ความจัดเจน
(4) cittakamma จิตฺตกมฺม (จิด-ตะ-กำ-มะ) = ภาพวาด, การวาดภาพ
(5) kalā กลา (กะ-ลา) = ชั้นเชิง > กล
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศิลป-, ศิลป์ ๑, ศิลปะ : (คำนาม) ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร, เช่น เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะ ผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์; การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น เช่น ศิลปะการดนตรี ศิลปะการวาดภาพ ศิลปะการละคร วิจิตรศิลป์. (ส. ศิลฺป; ป. สิปฺป ว่า มีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม).”
นาฏ + สิปฺป = นาฏสิปฺป > นาฏศิลป์ แปลเอาความตามศัพท์ในบาลีว่า “ความรู้ความสามารถในการฟ้อนรำขับร้องบรรเลงดนตรี”
ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้สั้นๆ ว่า –
“นาฏศิลป์ : (คำนาม) ศิลปะแห่งการละครหรือการฟ้อนรํา. (ส.).”
……………..
คำถามที่ยังรอคำตอบ :
ขณะนี้มีการถกเถียงกันว่า บุคคลสามารถแต่งตัวตามรูปลักษณ์ของตัวละครจากวรรณคดี แล้วแสดงกิริยาอาการใดๆ ให้ปรากฏต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งนอกเหนือไปจากการแสดงตามเรื่องราวในวรรณคดีเรื่องนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการยินยอมหรือเห็นชอบจากผู้ใดผู้หนึ่ง หรือจากหน่วยงานใดๆ ของรัฐ – ได้หรือไม่
ทางดำริคือ –
1 มีกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยเรื่องนี้อยู่แล้วหรือไม่ ถ้ามี ก็ปฏิบัติไปตามนั้น
2 ถ้ายังไม่มี หรือมี แต่ยังไม่รัดกุมหรือยังครอบคลุมมาไม่ถึงกรณีเช่นนี้ และเห็นร่วมกันว่าควรมีหรือควรปรับปรุง รัฐก็ต้องทำให้มีขึ้น หรือปรับปรุงให้รัดกุมครอบคลุมขึ้นอีก
3 ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทุกฝ่ายย่อมมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้ แต่พึงทราบว่า การแสดงความคิดนั้น ถ้าไม่ได้แสดงวิธีแก้ปัญหาไว้ด้วย ย่อมไม่สามารถยุติปัญหาได้ จนกว่ารัฐหรือผู้มีอำนาจจะเข้ามาจัดการ
……………..
๏ แต่งองค์ทรงเครื่องเรื่องรามลักษมณ์
บ้างเป็นยักษ์บ้างเป็นลิงผู้ยิ่งใหญ่
พอถอดเครื่องเปลื้องเสื้อเห็นเนื้อใน
นึกว่าใครสัปดน คนธรรมดา!
—————
(ภาพจาก google)
25-9-59