บาลีวันละคำ

มงคลตื่นข่าว (บาลีวันละคำ 1,583)

มงคลตื่นข่าว

บาลีว่าอย่างไร

ในหนังสือ นวโกวาท ภาคคิหิปฏิบัติ แสดงสมบัติของอุบาสก 5 ประการ ไว้ดังนี้ –

1. ประกอบด้วยศรัทธา

2. มีศีลบริสุทธิ์

3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล

4. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา

5. บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา

มีคำถามว่า “มงคลตื่นข่าว” หมายความว่าอย่างไร?

มงคลตื่นข่าว” แปลมาจากคำบาลีว่า “โกตูหลมงฺคลิก” (โก-ตุ-หะ-ละ-มัง-คะ-ลิ-กะ) แยกศัพท์เป็น โกตูหล + มงฺคล + อิก ปัจจัย

(๑) “โกตูหล” (โก-ตู-หะ-ละ)

รากศัพท์มาจาก กุ (บาป, ความชั่ว) + ตุลฺ (ธาตุ = เบาบาง) + ปัจจัย, ลง อาคมกลางธาตุ (ตุลฺ > ตุหลฺ), แผลง อุ ที่ กุ เป็น โอ (กุ > โก), ทีฆะ อุ ที่ ตุ เป็น อู

: กุ + ตุลฺ = กุตุลฺ + = กุตุล > กุตุหล > โกตุหล > โกตูหล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบาปให้เบาบาง” มีคำไขความว่า เพราะแตกตื่นทำความดีกันมาก บาปจึงเบาบางลงไป

โกตูหล” หมายถึง ความตื่นเต้น, ความยุ่งเหยิง, ความโกลาหล, งานรื่นเริง, มหกรรม, (excitement, tumult, festival, fair)

(๒) “มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มคิ (ธาตุ = ถึง, ไป, เป็นไป) + อล ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ -(คิ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (มคิ > มํคิ > มงฺคิ), ลบสระที่สุดธาตุ (มคิ > ค)

: มคิ > มํคิ > มงฺคิ > มงฺค + อล = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงความเจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์

(2) มงฺค (บาป) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อุ ที่ ลุ ที่อยู่หน้า ปัจจัย : ลุ > )

: มงฺค + ลุ = มงฺคลุ > มงฺคล + = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุที่ตัดความชั่ว

ความหมายที่เข้าใจกันของ “มงฺคล” (นปุงสกลิงค์) คือ –

(1) มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง (auspicious, prosperous, lucky, festive)

(2) ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (good omen, auspices, festivity)

มงฺคล” ตามหลักพระพุทธศาสนาหมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ

การประกอบคำ :

1) โกตูหล + มงฺคล = โกตูหลมงฺคล แปลว่า “ความแตกตื่นว่า (สิ่งใดสิ่งหนึ่ง) เป็นมงคล

2) โกตูหลมงฺคล + อิก = โกตูหลมงฺคลิก แปลว่า “ผู้ตั้งอยู่ในความแตกตื่นว่า (สิ่งใดสิ่งหนึ่ง) เป็นมงคล

อภิปราย :

มงคลตื่นข่าว” ไม่ใช่แค่ “ตื่นข่าว

คำว่า “ตื่นข่าว” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ตื่นข่าว : (คำกริยา) เชื่อข่าวหรือคําเล่าลือโดยไม่มีเหตุผล.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

ตื่นข่าว : (คำกริยา) ตระหนกตกใจไปกับข่าวหรือคำเล่าลือ.”

ตัวอย่างของ “ตื่นข่าว” ตาม พจน.42 เช่น มีคำเล่าลือว่าบุคคลผู้นั้นผู้นี้ตายแล้ว ก็เชื่อตามไปทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน

ตัวอย่างของ “ตื่นข่าว” ตาม พจน.54 เช่น มีคนบอกว่ารถชนกันที่ปากซอยหน้าบ้าน ก็ตกใจรีบวิ่งออกไปดู

แต่ “มงคลตื่นข่าว” ไม่ใช่แบบนี้ “มงคลตื่นข่าว” หมายถึง เมื่อมีคำเล่าลือหรือเชื่อถือกันว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ศักดิ์สิทธิ์ หรือบอกกันว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้จึงจะพ้นจากเคราะห์ร้าย ก็เชื่อตามหรือทำตามเขาไป เช่นกรณีลือกันว่าคนเกิดปีมะจะมีอันเป็นไป ต้องแก้เคล็ดอย่างนั้นอย่างนี้ หรือกรณีเล่าลือให้บูชาพระราหูด้วยของดำ 9 อย่าง ถ้าไม่ทำจะเกิดอาเพศ อย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่า “มงคลตื่นข่าว

หรือจากตัวอย่างข่าวรถชนกันที่ปากซอยหน้าบ้าน

ถ้าตกใจรีบวิ่งออกไปดู นี่คือ “ตื่นข่าว

ไปดูแล้ว ปรากฏว่ามีคนในรถตายหลายคน แต่มีคนหนึ่งรอดตายมาได้ เขาบอกว่าที่รอดตายเพราะแขวนพระขลัง คนฟังแล้วก็เชื่อว่าเป็นความจริง อย่างนี้คือ “มงคลตื่นข่าว

สรุปว่า : ฟังข่าว ดูข่าว อ่านข่าว แล้วเชื่อตามข่าว เป็นเพียงแค่ “ตื่นข่าว

ต่อเมื่อปักใจเชื่อตามคำเล่าลือ หรือตามความเชื่อถือว่า สิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ มีสิ่งนี้ไว้แล้วจะเกิดสิริมงคล ทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะมีอำนาจลึกลับช่วยบันดาลให้ประสบความสำเร็จ เป็นต้น อย่างนี้จึงจะเรียกว่า “มงคลตื่นข่าว

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [259] อุบาสกธรรม 5 อุบาสกธรรมข้อ 3 บอกไว้ว่า –

3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือ มุ่งหวังผลจากการกระทำและการงาน มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ (not to be superstitious, believing in deeds, not luck)

……….

ในเรื่องที่เป็นเพียง “ตื่นข่าว” สังเกตเห็นว่ามีผู้ใช้คำว่า “มงคลตื่นข่าว” กันมากขึ้น ถ้าไม่ช่วยกันรั้งไว้ ความหมายของคำว่า “มงคลตื่นข่าว” จะแปรไป แล้วผิดก็จะกลายเป็นถูกไปอีกคำหนึ่ง

………….

: คนเขลา ฝากอนาคตไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

: บัณฑิต ฝากไว้กับความพากเพียรของตนเอง

4-10-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย