กฐินโจร (บาลีวันละคำ 1,584)
กฐินโจร
ไม่ใช่กฐินผู้ร้าย
อ่านว่า กะ-ถิน-โจน
ประกอบด้วย กฐิน + โจร
(๑) “กฐิน”
บาลีอ่านว่า กะ-ถิ-นะ รากศัพท์มาจาก กฐฺ (ธาตุ = อยู่ลำบาก) + อิน ปัจจัย
: กฐฺ + อิน = กฐิน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่อยู่ลำบาก”
คำว่า “กฐิน” ในบาลี :
1) ถ้าเป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “กฐิน” (คำนาม) ว่า –
the cotton cloth which was annually supplied by the laity to the bhikkhus for the purpose of making robes, also a wooden frame used by the bh. in sewing their robes (ผ้าฝ้ายที่ฆราวาสถวายประจำปีแก่ภิกษุเพื่อทำจีวร, ไม้สะดึงที่ภิกษุใช้เย็บจีวร)
2) ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า แข็ง, แนบแน่น, ไม่คลอนแคลน, หนัก, หยาบกร้าน, โหดร้าย (hard, firm, stiff, harsh, cruel)
ในที่นี้ “กฐิน” หมายถึงผ้าที่มีผู้ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้วเพื่อผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเดิม มีพระพุทธานุญาตให้สงฆ์ยกผ้านั้นให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันเพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหมดที่จำพรรษาร่วมกันนั้นต้องช่วยกันทำเพื่อแสดงถึงความสามัคคี
(๒) “โจร”
บาลีอ่านว่า โจ-ระ รากศัพท์มาจาก จุรฺ (ธาตุ = ลัก, ขโมย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ จุ-(รฺ) เป็น โอ (จุรฺ > โจร)
: จุรฺ + ณ = จุรณ > จุร > โจร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลักขโมย” หมายถึง ขโมย, โจร (a thief, a robber)
กฐิน + โจร = กฐินโจร (ดูคำอธิบายข้างหน้า)
ผู้รู้ท่านว่า “กฐินโจร” เพี้ยนมาจากคำว่า “กฐินจร” คือ กฐิน + จร = กฐินจร (กะ-ถิน-จอน)
“จร” บาลีอ่านว่า จะ-ระ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป) + อ ปัจจัย
: จรฺ + อ = จร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เที่ยวไปรู้เรื่องอาณาจักรศัตรูหรือเรื่องปรปักษ์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จร” เป็นอังกฤษว่า –
(1) the act of going about, walking; one who walks or lives (การเที่ยวไป, การเดินไป, ผู้เดินหรืออยู่)
(2) one who is sent on a message, a secret emissary, a spy (ผู้ถูกให้ไปส่งข่าว, จารบุรุษ, คนสอดแนม)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จร ๑, จร– : (คำวิเศษณ์) ไม่ใช่ประจำ เช่น วาระจร ขาจร. (คำกริยา) ไป, เที่ยวไป; ประพฤติ. (ป., ส.), ใช้เป็นบทท้ายสมาสก็มี เช่น ขจร วนจร, ที่ใช้ควบกับคำไทยก็มี เช่น จรลู่ จรลิ่ว.”
อธิบาย :
“กฐินจร” หมายถึง กฐินที่เจ้าภาพเที่ยวตระเวนไปสืบหาวัดที่ยังไม่ได้รับกฐิน เมื่อพบก็เข้าไปทอดทันที
“กฐินจร” นั่นเอง เรียกเพี้ยนไปเป็น “กฐินโจร” แล้วเลยสร้างคำอธิบายขึ้นอีกทางหนึ่งให้สอดคล้องกับคำว่า “โจร” คือบอกว่า “กฐินที่มาทอดมีอาการดุจโจรเข้ามาจู่โจม”
สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ ที่คำว่า “กฐิน” บอกไว้ตอนหนึ่งว่า –
……….
……….
เมื่อจวนจะสิ้นกฐินกาล ราวขึ้น ๑๔ – ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง มักจะมีผู้มีศรัทธา หมายจะสงเคราะห์ภิกษุสงฆ์ให้ได้อานิสงส์กฐิน ไปสืบเสาะหาวัดที่ไม่มีใครทอดกฐิน เมื่อพบก็จัดการทอดทีเดียว กฐินชนิดนี้เรียกว่า กฐินตก หรือ กฐินตกค้าง บางทีก็เรียกว่า กฐินจร หรือ กฐินโจร ซึ่งหมายความว่า กฐินที่ไม่ได้จองล่วงหน้าตามธรรมเนียม จู่ๆ ก็ไปทอดโดยมิได้บอกให้รู้ตัว
……….
……….
ข้อสำคัญที่ต้องเข้าใจให้ถูก :
๑ “กฐินจร” หรือ “กฐินโจร” ต้องหมายถึงกฐินที่ไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะทอดที่วัดไหน แต่ใช้วิธีตระเวนไปหาวัดที่ยังไม่ได้รับกฐิน
๒ “กฐินจร” หรือ “กฐินโจร” ทำกันในช่วงท้ายของฤดูกฐิน คืออีกวันสองวันก็จะหมดเขตทอดกฐิน เพราะเจตนาของกฐินชนิดนี้ก็คือจะสงเคราะห์วัดที่ยังไม่มีเจ้าภาพทอดกฐิน
วัดที่อยู่มาจนจวนจะสิ้นเขตทอดกฐิน แต่ยังไม่มีใครมาทอด นั่นหมายความว่าพระย่อมเสี่ยงที่จะไม่ได้รับกฐิน “กฐินจร” หรือ “กฐินโจร” จึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้
๓ ถ้าไปจองวัดไว้ตั้งแต่ต้นเทศกาล หรือรู้แน่แล้วตั้งแต่บัดนี้ว่าจะไปทอดวัดไหน แล้วมาเรียกว่า “กฐินจร” หรือ “กฐินโจร” โปรดทราบว่าเป็น “กฐินเพี้ยน” อีกชนิดหนึ่ง
…………..
หลงคำ : ทำได้เพียงให้ฉงน
หลงคน : ลึกซึ่งถึงฉิบหาย
5-10-59