บาลีวันละคำ

ชะตากรรม (บาลีวันละคำ 1,582)

ชะตากรรม

อ่านว่า ชะ-ตา-กำ

ประกอบด้วย ชะตา + กรรม

(๑) “ชะตา

ไม่ทราบว่าเราเอาคำนี้มาจากภาษาอะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชะตา : (คำนาม) ลักษณะหรืออัธยาศัยบางอย่างที่ทำให้รู้สึกชอบหรือไม่ชอบตั้งแต่แรกพบกัน เช่น ถูกชะตากัน ไม่ถูกชะตากัน, ลักษณะที่บังเกิดสำแดงเหตุดีและร้าย เช่น ชะตาดีชะตาร้าย, ชาตา ก็ว่า.”

ที่คำว่า “ชาตา” ก็ใช้บทนิยามเดียวกันนี้ แล้วบอกว่า “ชะตา ก็ว่า”

เป็นอันว่า คำนี้พูดว่า “ชะตา” ก็มี “ชาตา” ก็มี

ถ้าจะ “ลากเข้าวัด” ก็เหมาะที่จะบอกว่า “ชะตา” หรือ “ชาตา” มาจาก “ชาต” อ่านว่า ชา-ตะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา

: ชนฺ + = ชนต > ชาต แปลว่า “เกิดแล้ว

ชาต” ในภาษาบาลีมักใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์

คำที่คล้ายกับ “ชาต” คือ “ชาติ” (ชา-ติ) มาจากธาตุตัวเดียวกัน แต่ปัจจัยคนละตัว คือ “ชาติ” รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา

: ชนฺ + ติ = ชนติ > ชาติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีเป็นคำนาม ใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ :

1 การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

2 ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

3 จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

4 ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. Artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

ชาติ” กับ “ชาต” ในบาลี บางทีก็ใช้แทนกัน

ชาตะ” หรือ “ชาตา” พูดไปพูดมา เพี้ยนเป็น ชะตะ > ชะตา

(๒) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > ) และ ที่ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: กรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)

กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม” จนแทบจะไม่ต้องนึกถึงคำแปล

ชะตา + กรรม = ชะตากรรม แปลแบบลากเข้าความว่า “การกระทำที่เป็นตัวการให้เกิด” (คือ –เป็นตัวการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเช่นนี้) หรือ “ผลกรรมอันสืบเนื่องมาจากการเกิด” (คือเพราะมีการเกิด จึงต้องได้รับผลเช่นนั้นเช่นนี้ ถ้าไม่เกิด ผลทุกอย่างก็ระงับไป)

(โปรดทราบว่านี่เป็นการแปลแบบลากเข้าความตามความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำเท่านั้น)

ในบาลีมีศัพท์ว่า “ชาตกมฺม” (ชา-ตะ-กำ-มะ) หมายถึง พิธีกรรมที่ทำแก่เด็กเกิดใหม่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ชาตกมฺม” ว่า the soothsaying ceremony connected with birth (พิธีดูดวงชะตาเมื่อเด็กเกิด)

รูปประโยคว่า “ชาตกมฺมํ กโรติ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า to set the horoscope (ผูกด้วยโหราศาสตร์)

ชาตกมฺม” อาจเป็นที่มาของคำว่า “ชะตากรรม” ก็ได้

ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายของ “ชะตากรรม” ไว้ว่า –

ชะตากรรม : (คำนาม) ผลของกรรมที่ทำมาแล้ว ทำให้ต้องพบเหตุการณ์ในชีวิตตามผลของกรรมนั้น เช่น ทุกคนต้องรับทุกข์และสุขไปตามชะตากรรม; ความเป็นไป, ความเป็นตายร้ายดี, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น เขาหายไปนาน ไม่มีใครรู้ชะตากรรม.”

ชะตากรรม” นี้คนส่วนมากเชื่อว่าเป็นการดลบันดาลของผู้วิเศษหรืออำนาจเร้นลับ แต่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นประจักษ์ว่า “ผลย่อมมาจากเหตุ”

…………..

: อย่าโทษชะตากรรม

: แต่จงโทษการกระทำของเราเอง

3-10-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย