บาลีวันละคำ

จัณฑาล (บาลีวันละคำ 836)

จัณฑาล

อ่านว่า จัน-ทาน

บาลีเขียน “จณฺฑาล” อ่านว่า จัน-ดา-ละ

จณฺฑาล” รากศัพท์มาจาก จณฺฑ (ธาตุ = โกรธ, ดุร้าย) + อาล ปัจจัย

: จณฺฑ + อาล = จณฺฑาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่ดุร้าย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “จณฺฑาล” ว่า a man of a certain low tribe, one of the low classes, an outcaste (คนวรรณะต่ำพวกหนึ่ง, คนจัณฑาล, คนที่สังคมไม่รับไว้)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

จณฺฑาล : ผู้ต้องขับไล่หรือเนรเทศ; ผู้สัญจร, ผู้เที่ยวไปโดยไม่มีคฤหสถานอันแน่นอน, ‘คนจร’ ก็เรียก; an outcaste, a person banished or exiled from home; vagabond or scamp, one who wanders about without any settled habitation.”

คำภาษาอังกฤษที่แปลคำว่า “จณฺฑาล” ตรงกันคำหนึ่งคือ outcaste

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล outcaste ว่า –

(1) ผู้ที่ถูกขับไล่ออกจากคณะ, บุคคลที่เพื่อนมนุษย์ในชั้นของตนไม่คบหา, คนสิ้นคิด, คนสารเลว

(2) ของโยนทิ้ง, ขยะ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล outcaste เป็นบาลีว่า caṇḍāla จณฺฑาล

ภาษาอังกฤษอีกคำหนึ่งที่พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลเป็นบาลีว่า จณฺฑาล คือ untouchable

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล untouchable ว่า “ไม่สามารถแตะต้องได้, ชาวฮินดูพวกต่ำที่สุด ซึ่งตามคติศาสนาพราหมณ์พวกที่มีวรรณะจะแตะต้องไม่ได้”

SE-ED’S MODERN ENGLISH – THAI DICTIONARY ของ วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม แปล untouchable ว่า “แตะต้องไม่ได้, แตะไม่ถึง, ห้ามแตะ, ห้ามยุ่ง, ห้ามสัมผัส, วรรณะจัณฑาล, สมาชิกวรรณะจัณฑาล”

เป็นอันว่า จัณฑาล, outcaste, untouchable มีความหมายอย่างเดียวกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จัณฑาล : (คำวิเศษณ์) ตํ่าช้า. (คำนาม) ลูกคนต่างวรรณะ. (ส. จณฺฑาล ว่า ลูกที่บิดาเป็นศูทร มารดาเป็นพราหมณ์)”

จัณฑาลแบบไหน –

: จัณฑาลแบบ “outcaste” คนอื่นๆ ไม่อยากแตะต้องเพราะเจ้าตัวถูกรังเกียจ

: จัณฑาลแบบ “untouchable” คนอื่นๆ อยากแตะต้อง (วิจารณ์ ทักท้วง ติติง ฯลฯ) แต่เจ้าตัวไม่ยอมให้ใครมาทำเช่นนั้น เพราะทิฐิมานะว่าฉันดีแล้ว ฉันถูกแล้ว

แบบไหนก็อย่าเป็นจัณฑาล

เพราะน่าสงสารทุกแบบ

#บาลีวันละคำ (836)

1-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *