เดียรถียปริวาส (บาลีวันละคำ 1,585)
เดียรถียปริวาส
อ่านตามหลักภาษาว่า เดีย-ระ-ถี-ยะ-ปะ-ริ-วาด
อ่านตามสะดวกปากว่า เดีย-ระ-ถี-ปะ-ริ-วาด
ประกอบด้วย เดียรถีย + ปริวาส
(๑) “เดียรถีย”
บาลีเป็น “ติตฺถิย” (ติด-ถิ-ยะ) ประกอบด้วย ติตฺถ + อิย ปัจจัย
1) “ติตฺถ” รากศัพท์มาจาก ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + ถ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ต-(รฺ) เป็น อิ (ตรฺ > ติรฺ), แปลง ร ที่ (ต)-รฺ เป็น ตฺ
: ตรฺ + ถ = ตรฺถ > ติรฺถ > ติตฺถ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “เครื่องข้ามฟาก” (2) “ที่เป็นที่ข้ามฟาก” (3) “ความเห็นเป็นที่กระโดดดำผุดดำว่ายอยู่ในทิฐิหกสิบสองแห่งสัตว์ทั้งหลาย”
“ติตฺถ” หมายถึง –
(1) สถานที่ลุยน้ำข้ามฟาก, ท่าน้ำ (a fording place, landing place)
(2) นิกายศาสนา (a religious sect)
2) ติตฺถ + อิย = ติตฺถิย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบเข้าไว้ในท่า” หมายถึง ผู้ถืออีกนิกายหนึ่ง, เดียรถีย์ (an adherent of another sect, an heretic)
“ติตฺถิย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เดียรถีย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เดียรถีย์ : (คำนาม) นักบวชนอกพระพุทธศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล. (ส. ตีรฺถฺย; ป. ติตฺถิย).”
(๒) “ปริวาส”
บาลีอ่านว่า ปะ-ริ-วา-สะ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + วาส
1) “วาส” รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)
: วสฺ + ณ = วสณ > วส > วาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่” “ที่เป็นที่อยู่”
“วาส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) มีชีวิตอยู่, การพักแรม, ชีวิต (living, sojourn, life)
(2) บ้าน, เรือน, ที่อยู่ (home, house, habitation)
(3) สถานะ, สภาวะ (state, condition)
(4) (คุณศัพท์) พักอยู่, ดำรงอยู่, อาศัยอยู่, ใช้เวลา (staying, living, abiding, spending time)
2) ปริ + วาส = ปริวาส แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่รอบ” หมายถึง –
(1) การพักแรม, การอยู่ชั่วคราว (sojourn; stay)
(2) เวลาที่อยู่ปริวาส, การพิสูจน์ตนเอง (period under probation, living under probation)
(3) ระยะ, เวลา, การพักอยู่, ช่วงเวลา, ระยะเวลา (period, time, interval, duration)
“ปริวาส” ในทางวินัยสงฆ์ เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะต้องประพฤติเพื่อให้พ้นผิด เรียกว่า “อยู่ปริวาส” คำเก่าเรียก “อยู่กรรม” (ทำในกรณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ โดยต้องอยู่ปริวาสตามจำนวนวันที่ปกปิด)
ติตฺถิย + ปริวาส = ติตฺถิยปริวาส > เดียรถียปริวาส แปลว่า “การอยู่ปริวาสสำหรับเดียรถีย์”
“ติตถิยปริวาส” เขียนแบบไทยเป็น “ติตถิยปริวาส” อ่านว่า ติด-ถิ-ยะ-ปะ-ริ-วาด เขียนแบบแปลงศัพท์เป็น “เดียรถียปริวาส”
“ติตถิยปริวาส” หรือ “เดียรถียปริวาส” เป็นศัพท์ทางวินัยสงฆ์ในส่วนที่เกี่ยวกับนักบวชต่างศาสนาที่เปลี่ยนใจมานับถือพระพุทธศาสนาและขอบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา หากมีกรณีเช่นนี้ มีพุทธบัญญัติกำหนดไว้ว่า นักบวชผู้นั้นจะต้อง “อยู่ปริวาส” เป็นเวลา 4 เดือนก่อน เมื่อครบ 4 เดือนแล้วจึงจะมีสิทธิ์อุปสมบทเป็นภิกษุได้ เรียกการอยู่ปริวาสเช่นนี้ว่า “ติตถิยปริวาส” หรือ “เดียรถียปริวาส”
เหตุที่กำหนดให้ต้องอยู่ปริวาสนานถึง 4 เดือน ก็เพื่อเป็นการพิสูจน์หรือตรวจสอบความตั้งใจว่า เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาและมีความตั้งใจที่จะบวชเด็ดเดี่ยวมั่นคงหรือไม่
………….
ดูก่อนภราดา!
: สี่เดือนวัดใจเดียรถีย์
: แต่กี่ร้อยวันพันปีก็ไม่อาจวัดใจทรชน
6-10-59