จากเซเว่นฯ ถึงดาร์วิน
จากเซเว่นฯ ถึงดาร์วิน
———————–
แล้วควรจะบินต่อไป
…………
เวลาไปเดินออกกำลังตอนเช้าผมจะซื้อของกินไปบริจาคให้แม่ชีที่ดูแลพระมหาธาตุ ที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ วัน นอกเหนือจากที่เข้าไปไหว้พระในวันอื่นๆ เป็นการให้กำลังกายและกำลังใจผู้ทำหน้าที่ดูแลพระสถูปสถานประจำบ้านเมืองในวัดที่ผมเคยบวชอยู่
ของกินที่ผมเห็นว่าง่ายและสะดวกดีมีให้เลือกในร้านเซเว่นฯ ร้านที่ผมเข้าไปซื้อเป็นประจำอยู่ตรงหัวมุมแยกต้นสำโรง ญาติมิตรที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรีคงนึกออก
ร้านนี้ผมเคยเจอ “ลูกเล่น” ของพนักงานหญิงคนหนึ่ง
ผมซื้อซาลาเปาไข่เค็ม ๒ ลูก บีทาเก้น ๒ ขวด รวมราคา ๕๔ บาท
วันนั้นผมมีแบงก์ร้อยใบเดียวในกระเป๋า ให้แบงก์ร้อย ได้เงินทอน ๔๖ บาท เป็นใบละยี่สิบ ๒ ใบ เหรียญ ๕ บาทกับเหรียญบาทอย่างละเหรียญ
เวลาทอนเงิน พนักงานหญิงคนนั้นใช้มือจับธนบัตรที่ปลายด้านยาวทั้งสองข้างแบบเหยียดยาวทั้งฉบับ (ไม่ได้พับครึ่ง) มีใบเสร็จอยู่ด้านบน เหรียญ ๒ อันวางทับอีกทีหนึ่ง
ผมรับเงินทอนแล้วใส่กระเป๋าเลย ผมเชื่อว่าเงินแค่นั้นลูกค้าส่วนมากไม่ได้นับ รวมทั้งตอนที่พนักงานหยิบเงินทอนอยู่ก็อาจจะไม่ได้สังเกตอะไรมากด้วย
ออกจากร้านก็บ่ายหน้าไปวัด เดินไปได้พักหนึ่ง คิดว่าถึงวัดแล้วจะหยอดตู้บริจาค ล้วงกระเป๋าดูว่าเรามีแบงก์ยี่สิบอยู่ ๒ ใบ และเพื่อให้แน่ใจก็ควักออกมาให้เห็นกับตา
ก็จึงได้เห็นว่ามีใบยี่สิบอยู่ใบเดียว
ล้วงหมดทุกกระเป๋า ก็ไม่มี กระเป๋าก็ไม่ได้ขาด เหรียญยังอยู่ครบ ถ้ากระเป๋าขาด เหรียญต้องหล่นหายไปแล้ว ระหว่างทางก็ไม่ได้ล้วงกระเป๋าออกมาทำอะไรอันจะเป็นเหตุให้นึกไปได้ว่าเงินหล่นหาย
แบงก์ยี่สิบ ๒ ใบ เหลือใบเดียว เป็นไปได้อย่างไร
นึกถึงกิริยาท่าทางยื่นเงินทอนของพนักงานคนนั้น .. ชักรู้สึกตงิดๆ ขึ้นมา เกิดอกุศลจิตว่าน่าจะมีอะไรไม่ชอบมาพากล
จะย้อนกลับไปทวงถามว่าเมื่อตะกี้ทอนตังค์ให้ลุงครบหรือเปล่า คงมีคนหัวเราะลั่นโลก
ก็เลยเก็บเรื่องเข้าลิ้นชักใจไว้แค่นั้น
—————–
สองวันต่อมา ผมเดินออกกำลังผ่านไปทางร้านสะดวกซื้อนั่นอีก เกิดความคิดว่าน่าจะลองพิสูจน์ ก็เลยแวะเข้าไปแบบมีแผน
ผมซื้อซาลาเปาไข่เค็ม ๒ ลูก บีทาเก้น ๒ ขวด ราคา ๕๔ บาท .. เหมือนวันนั้น
ผมจำพนักงานหญิงคนนั้นได้ดี เล็งเคาน์เตอร์ที่เธอยืน วางของ แล้วส่งแบงก์ร้อยให้ ..
เหตุการณ์เกิดขึ้นแบบดูหนัง rewind
เพียงแต่ว่า คราวนี้ผมจับตาดูตั้งแต่วินาทีที่เธอรับเงินไปจากมือผม
เธอเอาแบงก์ใบละร้อยเก็บ หยิบใบละ ๒๐ บาทออกมาใบเดียว เอาใบเสร็จวางซ้อน แล้วเอาเหรียญห้ากับเหรียญบาทวางทับลงไป จับที่สองปลายธนบัตรยื่นมาให้ผม-เหมือนวันนั้น
ผมยืนเฉย ไม่รับ แต่ถามไปว่า “แบงก์ยี่สิบมีกี่ใบ?”
เธอหน้าเสีย ทำเป็นคลี่นับเงิน ทำท่าตกใจอย่างแนบเนียน เอ่ยปากว่า “ขอโทษค่ะ” แล้วหยิบใบละยี่สิบมาอีกใบหนึ่ง รวมกันแล้วส่งให้
ผมบอกเบาๆ แต่ชัดถ้อยชัดคำว่า “อย่าทำอย่างนี้อีก”
ตอนนี้ไม่ทราบว่าเธอย้ายไปอยู่ร้านไหน แต่ไม่เคยเจอที่ร้านนั้นอีกเลย
—————–
ร้านเซเว่นฯ ร้านเดียวร้านเดิมนี้ผมไม่ประทับใจอีกเรื่องหนึ่ง ดูเหมือนจะเคยเขียนให้ญาติมิตรอ่านกันไปแล้ว ขอทบทวนอีกที
คือเมื่อพนักงานเอาของใส่ถุงเสร็จก็จะวางถุงไว้ใกล้กับตัวเอง
นึกถึงพื้นที่บนเคาน์เตอร์นะครับ
แบ่งพื้นที่เป็นคนละครึ่ง
ลูกค้าอยู่ด้านหนึ่ง
พนักงานขายอยู่อีกด้านหนึ่ง
พนักงานขายจะเอาของวางไว้ที่ด้านของตัวเอง แทนที่จะเลื่อนมาทางด้านลูกค้า
ลูกค้าต้องยื่นมือข้ามเขตไปลากของนั้นมา ราวกับไปแย่งเอามาจากหน้าตักพนักงาน
ที่ร้านนี้ผมเจอกิริยาแบบนี้ทุกครั้ง – สาบานได้
และสังเกตได้ว่าปฏิบัติแบบนี้กับลูกค้าทุกคน
ถอดความกิริยาอาการออกมาเป็นคำพูด:
แบบที่ ๑ พนักงานยื่นถุงใส่ของส่งให้ถึงมือลูกค้าพร้อมกับก้มศีรษะเล็กน้อย
: “เซเว่นฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับใช้ท่าน”
แบบที่ ๒ พนักงานเลื่อนถุงใส่ของมาไว้ตรงหน้าลูกค้า
: “นี่ค่ะ ของที่คุณกรุณาอุดหนุนเซเว่น”
แบบที่ ๓ พนักงานวางของไว้ทางด้านของตัวเอง
: “กูได้ตังค์แล้ว มึงจะเอาของหรือไม่เอา เรื่องของมึง”
จะเห็นได้ว่าแบบที่ ๓ นี่ ทรามสุดๆ ใช่หรือไม่
ราวกับว่าการเลื่อนของมาไว้ตรงหน้าลูกค้านี่เป็นการเสียเกียรติอย่างยิ่ง-ประมาณนั้น
เซเว่นฯ ไม่ต้องทำถึงขั้นแบบที่ ๑ หรอกครับ ขอแค่แบบที่ ๒ ก็พอ
ผมไม่อยากเชื่อว่าการที่พนักงานทำกิริยาแบบที่ ๓ นั้นเป็นนโยบายของผู้บริหาร แต่ก็น่าสังเกตมาก พนักงานเซเว่นฯ ที่ร้านนี้ ไม่ว่าชายหรือหญิง และไม่ว่าจะเปลี่ยนหน้ากันมากี่คน ทำเหมือนกันหมด
อย่างดีที่สุดที่ผมเคยได้รับก็คือ ขยับถุงใส่ของมาทางลูกค้านิดหนึ่งอย่างเสียไม่ได้
ปกติผมไม่ได้เข้าเซเว่นฯ จึงไม่ทราบว่าร้านในที่อื่นๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า
—————–
พอประตูร้านเปิด เราจะได้ยินสัญญาณอันเป็นสัญลักษณ์ของเซเว่นฯ เมื่อเราก้าวเข้าไปก็จะได้ยินคำพูดของพนักงานว่า
“สวัสดีค่ะ เซเว่นยินดีต้อนรับค่ะ”
พอจะออกจากเคาน์เตอร์ เราก็จะได้ยินคำพูดของพนักงานว่า
“ขอบคุณค่ะ โอกาสหน้าเชิญใหม่นะคะ”
แม้จะสัมผัสได้และรู้กันทั่วไปว่าเป็นคำพูดที่ไม่ได้มีความจริงใจ ไร้อารมณ์ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง หรือพูดตามโปรแกรมเหมือนหุ่นยนต์
แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารเซเว่นฯ เห็นความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานกับลูกค้า
ซึ่งมันหมายถึงปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้ากับเซเว่นฯ
และมันหมายถึงการได้ “ใจ” ของลูกค้านั่นเอง
เงินสำคัญก็จริง แต่อย่าลืมว่า “น้ำใจ” มีคุณค่ายั่งยืนกว่า “น้ำเงิน”
ญาติมิตรท่านใดเป็นผู้บริหารเซเว่นฯ หรือรู้จักมักคุ้นกับผู้บริหารเซเว่นฯ ขออนุญาตฝากให้พิจารณาหน่อยนะครับ
ผมคิดว่าเซเว่นฯ ควรมีการประเมินผลและทบทวนอะไรๆ กันบ้าง อย่าเอาแต่นอนนับเงินเพลินไปท่าเดียว
—————–
วันนี้ ผมแวะเข้าไปซื้อของในร้านเซเว่นฯ ร้านเดียวร้านเดิมตรงหัวมุมแยกต้นสำโรงนั่นแหละ ขณะกำลังเอาของที่ซื้อไปวางที่เคาน์เตอร์ ก็มีสาวน้อยนางหนึ่งชิงตัดหน้าเสือกมือเอาของเข้าไปวางก่อน
ปกติผมเป็นคนไม่ถนัดในการแย่งชิงความได้เปรียบกับใครอยู่แล้ว ผมก็หลีกทางให้ด้วยความเต็มใจ
ถ้ารีบเหลือเกินก็เชิญตามสบาย ผมไม่รีบ
มองในแง่ดี ก็ดี คือทำให้ผมมีแง่มุมของชีวิตเป็นเครื่องตรึกตรองฝึกความคิดเพิ่มขึ้นได้อีกเรื่องหนึ่ง
ผมนึกถึงทฤษฎีของนักคิดฝรั่งที่มีคนยอมรับกันทั่วโลก ที่ว่า ผู้ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด (Survival of the fittest, คำกล่าวของ Herbert Spencer ตามทฤษฎี natural selection ของ Charles Darwin)
คือตามทฤษฎีนี้ ผมคงไม่แข็งแรงพอ จึงถูกคนที่แข็งแรงกว่าแซงหน้าไป
—————–
คนรุ่นก่อนคงไม่ลืมสภาพเมื่อไปติดต่องานหรือไปทำอะไรสักอย่าง ณ สถานที่ซึ่งมีผู้คนไปทำเรื่องเดียวกันมากๆ เช่นที่ทำการไปรษณีย์เป็นต้น
สภาพก็คือ มุงกันอยู่ตรงช่องที่มีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ ใครแซงได้เก่ง ก็ทำเรื่องเสร็จก่อน ใครมัวงุ่มง่าม ก็รอเงกอยู่นั่นแหละ
จนกระทั่งเมื่อไม่ช้าไม่นานปีมานี้ จึงมีระบบเข้าคิวเกิดขึ้น
ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทเล่าเรื่องท่านเศรษฐีคนหนึ่งตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารคนอนาถา พอได้เวลาเปิดเลี้ยงแต่ละวัน คนรับทานก็รุมกันเข้าไปขอรับอาหาร เสียงเอะอะโวยวาย เบียดเข้าเบียดออกกันอุตลุด
ถ้าผมเป็นคนอนาถาเกิดทันยุคนั้น น่าจะอดตาย เพราะแย่งเขาไม่ทัน
กุลสตรีนางหนึ่ง ชื่อ “สามา” เสนอแนะให้ทำรั้วกั้น ให้คนรับทานเดินเรียงกันเข้าไปตามลำดับก่อนหลังที่มาถึง เข้าทาง ออกทาง ความสับสนอลหม่านก็หมดไป
เขาเลยเรียกสาวต้นคิดคนนี้ว่า “สามาวดี” แปลตามบาลีว่า “รั้วของแม่นางสามา”
แสดงว่า ระบบเข้าคิวมีมาแล้วแต่โบราณกาลนานไกล แต่เพิ่งเดินทางมาถึงเมืองไทยเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้
—————–
จากเข้าคิวด้วยวิธียืนเข้าแถว ก็พัฒนามาเป็นระบบบัตรคิว ได้บัตรคิวแล้วไปหาที่นั่งรอตามสบาย ไม่ต้องกลัวว่าคนที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นจึงจะได้รับบริการก่อน
ถ้าเซเว่นฯ รู้จักคิดค้นจัดระบบระเบียบให้ดีๆ บางทีจะสามารถล้มทฤษฎี “ผู้ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด” ลงได้นะ ว่าไหม?
…………
ทฤษฎี “ผู้ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด” อาจจะเหมาะสมและใช้ได้ดีกับสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะปัญหาสุดท้ายของสัตว์ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด
คำตอบคือ ต้องแข็งแรง
เพราะ “ผู้ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด”
แต่มนุษย์ควรไปไกลกว่า นั่นคือต้องถามต่อไปอีกว่า จะอยู่รอดไปเพื่อทำอะไร
แล้วตัดสินกันด้วยสิ่งที่มนุษย์ควรจะทำหลังจากอยู่รอด
ไม่ใช่ตัดสินกันเพียงแค่-ใครแข็งแรงกว่า
ถ้าตัดสินกันแค่-ใครแข็งแรงกว่า มนุษย์ก็ไม่ดีกว่าไปกว่าสัตว์
และสิ่งที่มนุษย์บางจำพวกทำหลังจากอยู่รอดอาจเลวยิ่งกว่าสัตว์ด้วยซ้ำไป
…………
ถ้าสังคมรู้จักคิดค้นจัดระบบระเบียบให้ดีๆ บางทีเราจะสามารถก้าวข้ามทฤษฎี “ผู้ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด” แล้วชวนกันสนใจใฝ่หาก้าวหน้าต่อไปว่า อะไรคือสิ่งที่มนุษย์ควรจะทำหลังจากอยู่รอด แล้ววัดคุณค่าความเป็นมนุษย์จากสิ่งที่เขาทำ
ไม่ใช่ติดแหง็กอยู่แค่ดาร์วิน
แต่ควรบินให้ไกลต่อไปอีก
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๖ ตุลาคม ๒๕๕๙
๑๕:๒๗
…………………………….