โศกนาฏกรรม (บาลีวันละคำ 1,586)
โศกนาฏกรรม
อ่านว่า โส-กะ-นาด-ตะ-กํา ก็ได้
อ่านว่า โสก-กะ-นาด-ตะ-กํา ก็ได้
(ต่างกันที่ โส-กะ- กับ โสก-กะ-) (ตาม พจน.54)
ประกอบด้วย โศก + นาฏ + กรรม
(๑) “โศก”
บาลีเป็น “โสก” (โส-กะ) รากศัพท์มาจาก สุจฺ (ธาตุ = โศกเศร้า) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อุ ที่ สุ-(จฺ) เป็น โอ (สุจฺ > โสจ), แปลง จ เป็น ก
: สุจฺ + ณ = สุจณ > สุจ > โสจ > โสก แปลตามศัพท์ว่า “ความโศกเศร้า” หมายถึง ความเศร้า, ความโศก, ความทุกข์ใจ (grief, sorrow, mourning)
“โสก” ในบาลี เป็น “โศก” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“โศก : (คำนาม) ทุกข์, ความเศร้าใจ; sorrow, grief.”
(๒) “นาฏ”
บาลีอ่านว่า นา-ตะ รากศัพท์มาจาก นฏฺ (ธาตุ = ฟ้อนรำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ น-(ฏฺ) เป็น อา (นฏฺ > นาฏ)
: นฏฺ + ณ = นฏณ > นฏ > นาฏ แปลตามศัพท์ว่า “การฟ้อนรำ”
มีคำขยายความว่า –
“นจฺจํ วาทิตํ คีตํ อิติ อิทํ ตูริยตฺติกํ นาฏนาเมนุจฺจเต = การดนตรี 3 ประการนี้ คือ การฟ้อนรำ การบรรเลง การขับร้อง เรียกโดยชื่อว่า นาฏะ”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาฏ, นาฏ– : (คำนาม) นางละคร, นางฟ้อนรํา, ใช้ประกอบกับคําอื่น หมายความว่า หญิงสาวสวย เช่น นางนาฏ นุชนาฏ. (ป., ส.).”
“นาฏ” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นาฏ : (คำนาม) การฟ้อนรำ, การเต้นรำ, การเล่น (เช่นลครเปนอาทิ); แคว้นกรรณาฏ; dancing, acting; the Carnatic.”
ในบาลีมีคำว่า “นาฏก” (นา-ตะ-กะ) อีกคำหนึ่ง หมายถึง –
(1) นักฟ้อน, นักแสดง, ตัวละคร (a dancer, actor, player)
(2) ละคร, ละครจำพวกออกท่าทาง แต่ไม่เจรจา (a play, pantomime)
“นาฏก” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นาฏก : (คำนาม) ผู้แสดงบทลคร, ตัวลคร, ผู้เล่น; การแสดง (หรือเล่นลคร), การฟ้อนรำ; การเล่น, ลคร; เทพสภาหรือเทพสถานของพระอินทร์; a actor, acting, dancing; a play, a drama; the court of Indra.”
(๓) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > ก) และ ร ที่ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: กรฺ > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)
“กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม” จนแทบจะไม่ต้องนึกถึงคำแปล
อนึ่ง พึงทราบว่า “กมฺม” ในบาลี หรือ “กรรม” ในภาษาไทย เมื่อใช้ประกอบท้ายศัพท์ บางทีมีความหมายเท่ากับ “การ-” ในภาษาไทยนั่นเอง
การประสมคำ :
1) นาฏ + กรรม = นาฏกรรม (นาด-ตะ-กํา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาฏกรรม : (คำนาม) การละครหรือการฟ้อนรํา; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) งานเกี่ยวกับการรํา การเต้น การทําท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และหมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย. (ส.).”
2) โศก + นาฏกรรม = โศกนาฏกรรม
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“โศกนาฏกรรม : (คำนาม) วรรณกรรมโดยเฉพาะประเภทละครที่ลงท้ายด้วยความเศร้าหรือไม่สมหวัง ตัวเอกในเรื่องจะตายในที่สุด เช่นเรื่องลิลิตพระลอ สาวเครือฟ้า โรเมโอ-จูเลียต, โดยปริยายหมายถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ทั่ว ๆ ไปที่เป็นเรื่องเศร้าสลดใจ เช่น ชีวิตของเขาเป็นเหมือนโศกนาฏกรรม เกิดในตระกูลเศรษฐี แต่สุดท้ายต้องตายอย่างยาจก.”
“โศกนาฏกรรม” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า tragedy
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล tragedy เป็นบาลีว่า
(1) dāruṇasiddhi ทารุณสิทฺธิ (ทา-รุ-นะ-สิด-ทิ) = เรื่องที่จบเสร็จลงด้วยความรุนแรง
(2) sokanta-nāṭaka โสกนฺต-นาฏก = ละครที่จบลงด้วยความเศร้า
หมายเหตุ : โสกนฺต < โสก + อนฺต แปลตามศัพท์ว่า “มีความโศกเป็นที่สุด”
………….
: บันเทิงทางโลก เป็นต้นว่าเพลินไปกับละครโศกนาฏกรรม
: บันเทิงทางธรรม คือรู้เท่าทันความเป็นจริง
ดูก่อนภราดา!
ท่านกำลังบันเทิงอยู่ในทางไหน?
7-10-59