บาลีวันละคำ

ธรรมสัญจร (บาลีวันละคำ 2473)

ธรรมสัญจร

เดินสายประกาศธรรม

อ่านว่า ทำ-มะ-สัน-จอน

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + สัญจร

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

(๒) “สัญจร

บาลีเป็น “สญฺจร” อ่านว่า สัน-จะ-ระ รากศัพท์มาจาก สํ + จร

(ก) “สํ” (สัง) เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)

(ข) “จร” บาลีอ่านว่า จะ-ระ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป) + ปัจจัย

: จรฺ + = จร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เที่ยวไปรู้เรื่องอาณาจักรศัตรูหรือเรื่องปรปักษ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จร” เป็นอังกฤษว่า –

(1) the act of going about, walking; one who walks or lives (การเที่ยวไป, การเดินไป, ผู้เดินหรืออยู่)

(2) one who is sent on a message, a secret emissary, a spy (ผู้ถูกให้ไปส่งข่าว, จารบุรุษ, คนสอดแนม)

สํ + จร แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ

สํ + จร = สํจร > สญฺจร (สัน-จะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ไปร่วมกัน” หมายถึง ทาง, หนทาง, สื่อกลาง (passage, way, medium)

เพื่อให้รู้ความหมายของคำกว้างขวางขึ้น ขอนำคำที่มีรากศัพท์เดียวกันมาเสนอไว้อีก 2 คำ คือ “สญฺจรณ” (สัน-จะ-ระ-นะ) และ “สญฺจรติ” (สัน-จะ-ระ-ติ)

สญฺจรณ” เป็นคำนาม แปลว่า การสัญจรไป, การพบ, สถานที่นัดพบกัน (wandering about, meeting, meeting-place)

สญฺจรติ” เป็นคำกริยา (กิริยาอาขยาต) มีคำแปลดังนี้ –

(1) สัญจร, ท่องเที่ยวไป (to go about, to wander)

(2) พบกัน, รวมเป็นกลุ่ม, มาด้วยกัน (to meet, unite, come together)

(3) เคลื่อนไป, แกว่งไกว (to move, to rock)

(4) ผ่านไป (to pass)

สญฺจร” ในภาษาไทยใช้เป็น “สัญจร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัญจร : (คำกริยา) ผ่านไปมา เช่น ทางสัญจร. (คำนาม) ช่องทาง, ถนน; การผ่านไปมา. (ป., ส.).”

ธรรม + สัญจร = ธรรมสัญจร แปลว่า “การเดินทางไปเพื่อแสดงธรรม”  หรือ “การเดินทางไปเพื่อปฏิบัติธรรม

ธรรมสัญจร” เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นเพื่อเรียกกิจกรรมที่พระภิกษุเดินทางไปแสดงธรรมตามที่ต่างๆ หรือฆราวาสญาติโยมรวมกันเป็นหมู่คณะเดินทางไปปฏิบัติธรรมหรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับพระศาสนาในสถานที่ต่างๆ ตามโอกาสอันควร

คำว่า “ธรรมสัญจร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

อภิปราย :

การเดินทางไปแสดงธรรมตามที่ต่างๆ เป็นกิจที่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาลปฏิบัติมาแล้วอย่างจริงจังเข้มข้น ดังข้อความตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกที่ว่า –

…………..

จรถ  ภิกฺขเว  จาริกํ  พหุชนหิตาย  พหุชนสุขาย  โลกานุกมฺปาย   อตฺถาย  หิตาย  สุขาย  เทวมนุสฺสานํ ….

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสเบาบางมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมพลาดโอกาส ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักต้องมีอยู่บ้าง แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 32

…………..

อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาที่ยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือผลจากการออกประกาศพระศาสนาของบรรพบุรุษชาวพุทธแต่โบราณกาลนั่นเอง

ปัจจุบัน พระพุทธศาสนาในเมืองไทยก็มิได้อยู่ในสภาพหยุดนิ่ง กำลังเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าปลายทางที่เรากำลังพากันไปนั่นคือความเสื่อมถอย จืดจาง เพราะเราเพลิดเพลินอยู่กับการกินบุญเก่า แต่เว้นวางห่างเหินจากการสร้างบุญใหม่ กล่าวคือขาดการรุกเร้านำธรรมะเข้าหาประชานชนอย่างเข้มข้นจริงจังดังโบราณสมัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าอยากให้พระพุทธศาสนาเป็นผู้นำ

ก็ต้องเอาธรรมออกไปหาคน

: แต่ถ้าอยากให้พระศาสนาอับจน

ก็นั่งรอคนให้เข้ามาหาธรรม

#บาลีวันละคำ (2,473)

21-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *