บาลีวันละคำ

ปริณายก (บาลีวันละคำ 2472)

ปริณายก

ควรจะดีกว่า “นายก

อ่านว่า ปะ-ริ-นา-ยก

บาลีเขียนเหมือนกัน อ่านว่า ปะ-ริ-นา-ยะ-กะ

ปริณายก” แยกศัพท์เป็น ปริ + ณายก

(๑) “ปริ” (ปะ-ริ)

เป็นคำอุปสรรค (อุปสรรค = คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ; ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด (around, round about; all round, completely, altogether)

(๒) “ณายก

ศัพท์เดิมเป็น “นายก” (นา– น หนู) อ่านว่า นา-ยะ-กะ รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), แผลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อาย (อา-ยะ) (นี > เน > นาย)

: นี + ณฺวุ = นีณฺวุ > (ณฺวุ > อก > ) นีก > เนก > นายก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำ

นายก” (ปุงลิงค์) ความหมายทั่วไปคือ ผู้นํา, ผู้เป็นหัวหน้า, ผู้นำทาง, ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ (a leader, guide, lord)

ปริ + นายก = ปรินายก แปลง (น หนู) เป็น (ณ เณร) > ปริณายก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำรอบด้าน” คือ ในหมู่พวกของตน เป็นผู้นำหรือรับผิดชอบทุกเรื่อง มิใช่เฉพาะทางใดทางหนึ่ง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปริณายก” ว่า a leader, guide, adviser (ผู้นำ, ผู้แนะทาง, ที่ปรึกษา)

ข้อสังเกต :

(1) คัมภีร์บาลีของไทย มีทั้ง “ปริายก” ( หนู) และ “ปริายก” ( เณร)

(2) แปลง เป็น เมื่อมี “ปริ-” นำหน้าเท่านั้น “นายก” คำเดียวคงใช้ หนู ไม่มีที่เป็น “ณายก

(3) ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 กำหนดให้เขียน “ปริณายก” ( เณร)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริณายก : (คำนาม) ผู้นําบริวาร, หัวหน้า, ผู้เป็นใหญ่. (ส.; ป. ปรินายก).”

คำว่า “ปริณายก” ที่เราน่าจะคุ้นกันดี ก็คือสร้อยพระนามสมเด็จพระสังฆราชที่ว่า “สกลมหาสังฆปริณายก” มีความหมายว่า ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง

ขยายความ :

ปริณายก” เป็น 1 ใน “รัตนะ” คือสิ่งของที่ถือว่าวิเศษและมีค่ามาก 7 อย่างของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ –

1. จักรรัตนะ-จักรแก้ว

2. หัตถิรัตนะ-ช้างแก้ว

3. อัสสรัตนะ-ม้าแก้ว

4. มณิรัตนะ-มณีแก้ว

5. อิตถีรัตนะ-นางแก้ว

6. คหปติรัตนะ-ขุนคลังแก้ว

7. ปริณายกรัตนะ-ขุนพลแก้ว

…………..

อีกไม่นาน บ้านเราก็จะมีการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งจะมีความหมายเท่ากับเลือกผู้นำไปด้วยในตัว

…………..

ดูก่อนภราดา!

พาโล อปริณายโก.

(พาโล อะปะริณายะโก)

ที่มา: วีณาถูณชาดก พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 313

พุทธศาสนสุภาษิตเล่ม 1 แปลว่า –

: คนโง่ ไม่ควรเป็นผู้นำ

บาลีวันละคำแปลว่า –

: คนระยำ ไม่ควรเป็นนายก

#บาลีวันละคำ (2,472)

20-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *