บาลีวันละคำ

สงกาสัย (บาลีวันละคำ 2471)

สงกาสัย

ลากเข้าวัดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคำ

สงกาสัย” อ่านว่า สง-กา-ไส เป็นคำที่ได้ยินจากปากของบางคนที่เอาคำว่า “สงสัย” มาพูดแทรกพยางค์กลางคำเป็น “สงกะสัย” เป็นอย่างคำคะนอง เช่น “ชักสงกะสัยซะแล้วว่าคำนี้แปลว่าอะไร”

ใครฟังก็เข้าใจได้ว่า “สงกะสัย” ก็คือ “สงสัย” นั่นเอง แต่เอามาพูดเล่นเป็น “สงกะสัย”

และคำว่า “สงกะสัย” นั่นเองลากเสียงยาวไปอีกหน่อยแบบคนพูดยานคาง ก็เป็น “สงกาสัย

สงกาสัย” ที่พูดเล่นๆ นี้ กลายเป็นคำที่มีเค้ารูปเป็นคำจริงๆ นั่นคือ “สงกา” กับ “สงสัย

(๑) “สงกา

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺกา” (มีจุดใต้ งฺ) อ่านว่า สัง-กา รากศัพท์มาจาก สงฺกฺ (ธาตุ = สงสัย) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สงฺกฺ + = สงฺก + อา = สงฺกา แปลว่า “ความสงสัย

สงฺกา” ในบาลีใช้ในความหมายว่า ความสงสัย, ความไม่แน่ใจ, ความเกรงกลัว (doubt, uncertainty, fear)

สงฺกา” ภาษาไทยใช้ว่า “สงกา” (สง-กา) แต่ พจน.54 ก็เก็บรูปคำ “สังกา” (สัง-กา) ไว้ด้วย บอกว่าคือ “สงกา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สงกา : (คำนาม) ความสงสัย. (ป. สงฺกา; ส. ศงฺกา).”

(๒) “สงสัย

บาลีเป็น “สํสย” (สัง-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก สํ (แทนศัพท์ว่า “สมนฺต” (สะ-มัน-ตะ) = รอบด้าน) + สี (ธาตุ = สงสัย) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อี ที่ สี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (อะ-ยะ) (สี > เส > สย)

: สํ + สี = สํสี + = สํสีณ > สํสี > สํเส > สํสย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่สงสัยรอบด้าน” หมายถึง ความสงสัย (doubt)

บาลี “สํสย” ภาษาไทยใช้เป็น “สงสัย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สงสัย : (คำกริยา) ไม่แน่ใจในข้อเท็จจริง เช่น สงสัยว่าทำดีจะได้ดีจริงหรือ, ลังเล เช่น เมื่อเดินไปถึงทาง ๒ แพร่ง สงสัยว่าจะไปทางไหนจึงจะถูก; ทราบไม่ได้แน่ชัด, เคลือบแคลง, เช่น สงสัยว่าคำตอบข้อไหนถูก สงสัยว่าเขาจะเป็นขโมย; เอาแน่ไม่ได้ เช่น สงสัยว่าเขาจะมาหรือไม่มา. (ป. สํสย; ส. สํศย).”

ลากเข้าวัดเนียนๆ :

สังกา + สงสัย = สังกาสงสัย ตัดพยางค์กลางคำออกเพื่อความสะดวกในการพูด

หลักการนี้ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “มัชเฌโลป” (มัด-เช-โลบ) แปลว่า “ลบในท่ามกลาง” คือลบคำกลางออกเสีย

สังกาสงสัย” จึงกลายเป็น “สังกาสัย

…………..

โปรดทราบว่า ที่อธิบายมานี้เป็นการลากเข้าวัดแบบซื่อๆ เพราะไม่ได้มีหลักฐานรองรับใดๆ เรียกว่าพูดเอาเองล้วนๆ แต่พอดีว่าไปเข้าหลักภาษา จึงดูเหมือนน่าเชื่อ

จึงขอย้ำว่า อย่านำไปอ้างอิง และถ้าเห็นใครอธิบายแบบนี้ จงรู้ทันให้จงหนัก

และโปรดทราบด้วยว่า คำว่า “สังกาสัย” หรือ “สังกะสัย” เป็นภาษาปากหรือเป็นคำคะนอง ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พูดเล่นได้ แต่พูดเป็นการเป็นงานไม่ได้ และไม่ควรใช้เป็นภาษาเขียนหรือภาษาที่เป็นทางการ

คติ :

ในสังคมมีเรื่องทำนองนี้อยู่มาก คือเรื่องที่ฟังดูน่าเชื่อ มีเหตุผลสอดรับที่น่าเป็นไปได้ บางทีผู้นำมาพูดก็เป็นคนที่น่าเชื่อถือ แต่ซ่อนเจตนาทุจริตไว้ภายใน

เราไม่อาจไปเที่ยวชี้หน้าว่าใครโกหกไปได้ทุกคนทุกเรื่องทุกที่ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อไปทุกคนทุกเรื่องทุกที่เช่นเดียวกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงฟังทุกเรื่องที่อยากฟัง

: แต่ระวัง อย่าเชื่อทุกเรื่องที่อยากเชื่อ

—————

(ส่งการบ้านข้ามปีของ ปุณณภัทร เภาประเสริฐ ผู้ซึ่งอาจจะ “สงกา” และ “สงสัย” ว่า เอ นี่อาตมาถามไปตั้งแต่เมื่อไร?)

#บาลีวันละคำ (2,471)

19-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *