สมบัติ – วิบัติ (บาลีวันละคำ 2469)
สมบัติ – วิบัติ
มองกันให้ชัด-ในฐานะเป็นหลักธรรม
(1) หลักภาษา
“สมบัติ” บาลีเป็น “สมฺปตฺติ” (สำ-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง (ป)-ทฺ เป็น ตฺ
: สํ > สมฺ + ปทฺ = สมฺปทฺ + ติ = สมฺปทฺติ> สมฺปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อม” (คือความสำเร็จ) “ภาวะที่ถึงพร้อม”
ขยายความว่า ถึงพร้อมด้วยสิ่งใด หรือบรรลุถึงสิ่งใด ก็เรียกสิ่งนั้นว่า “สมฺปตฺติ”
“สมฺปตฺติ” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) ความสำเร็จ, การบรรลุ; ความสุข, ความสำราญ, สมบัติ (success, attainment; happiness, bliss, fortune)
(2) ความเลิศลอย, ความดีเด่นหรือสง่างาม(excellency, magnificence)
(3) เกียรติ (honour)
(4) ความรุ่งเรือง, ความสวยสดงดงาม (prosperity, splendor)
“สมฺปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สมบัติ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมบัติ ๑ : (คำนาม) ความถึงพร้อม หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้นที่มีอยู่ เช่น ถึงมีสมบัติมากมายก็ไม่พ้นความตายไป ทำงานมาเกือบ ๒๐ ปี มีสมบัติอย่างเดียวคือบ้าน. (ป., ส. สมฺปตฺติ).”
ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “สมบัติ” ก็คือ ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ แต่ในภาษาบาลี “สมฺปตฺติ” มีความหมายมากกว่านั้น ดูคำแปลภาษาอังกฤษที่ตรงกับความเข้าใจในภาษาไทยมีเพียงคำว่า fortune เท่านั้น คำแปลอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้โดยตรงแต่อย่างใด
(2) หลักธรรม
ในหลักธรรม มีธรรมะชุดหนึ่งเรียกชื่อว่า “สมบัติ 4” เป็นองค์ประกอบในการที่บุคคลทำดีแล้วได้ผลดี
ขอยกข้อความในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [177] มาแสดงในที่นี้ เพื่อเป็นอุปการะในการศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันหลักคำสอนที่ว่า “ทำดีได้ดี” ต้องมีองค์ประกอบอย่างไร
…………..
[177] สมบัติ 4 (ข้อดี, ความเพียบพร้อม, ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งอำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี และไม่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบอำนวย ช่วยเสริมกรรมดี — Sampatti: accomplishment; factors favourable to the ripening of good Karma)
1. คติสมบัติ (สมบัติแห่งคติ, ถึงพร้อมด้วยคติ, คติให้; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดในกำเนิดอันอำนวย หรือที่เกิดอันเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึง ที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินดี หรือทำถูกเรื่อง ถูกที่ คือกรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นที่นั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดี หรือการเจริญงอกงามของความดี ทำให้ความดีปรากฏผลโดยง่าย — Gati-sampatti: accomplishment of birth; fortunate birthplace; favourable environment, circumstances or career)
2. อุปธิสมบัติ (สมบัติแห่งร่างกาย, ถึงพร้อมด้วยรูปกาย, รูปกายให้; ในช่วงยาวหมายถึง มีกายสง่า สวยงาม บุคลิกภาพดี ในช่วงสั้นหมายถึง ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี — Upadhi-sampatti: accomplishment of the body; favourable or fortunate body; favourable personality, health or physical conditions)
3. กาลสมบัติ (สมบัติแห่งกาล, ถึงพร้อมด้วยกาล, กาลให้; ในช่วงยาว หมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกมีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข มีการปกครองที่ดี คนในสังคมอยู่ในศีลธรรม สามัคคีกัน ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึง ทำถูกกาลถูกเวลา — Kāla-sampatti: accomplishment of time; favourable or fortunate time)
4. ปโยคสมบัติ (สมบัติแห่งการประกอบ, ถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร, กิจการให้; ในช่วงยาว หมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ถูก นำความเพียรไปใช้ขวนขวายประกอบการที่ถูกต้องดีงาม มีปกติประกอบกิจการงานที่ถูกต้อง ทำแต่ความดีงามอยู่แล้ว ในช่วงสั้นหมายถึง เมื่อทำกรรมดี ก็ทำให้ถึงขนาด ทำจริงจัง ให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ใช้วิธีการที่เหมาะกับเรื่อง หรือทำความดีต่อเนื่องมาเป็นพื้นแล้ว กรรมดีที่ทำเสริมเข้าอีก จึงเห็นผลได้ง่าย — Payoga-sampatti: accomplishment of undertaking; favourable, fortunate or adequate undertaking)
ดูเพิ่มเติม: “วิบัติ – สมบัติ” บาลีวันละคำ (2,468) 16-3-62
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รดน้ำพรวนดินให้ถูกวิธีเป็นหน้าที่ของคน
: ออกดอกออกผลเป็นหน้าที่ของต้นไม้
#บาลีวันละคำ (2,469)
17-3-62