บาลีวันละคำ

วิบัติ – สมบัติ (บาลีวันละคำ 2468)

วิบัติ – สมบัติ

มองกันให้ชัด-ในฐานะเป็นหลักธรรม

(1) หลักภาษา

คำว่า “วิบัติ” บาลีเป็น “วิปตฺติ” (วิ-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, ต่างๆ กัน) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ ที่สุดธาตุ (ปทฺ > ), ซ้อน ระหว่างธาตุกับปัจจัย (ปท > + ตฺ + ติ)

: วิ + ปทฺ = วิปทฺ + ตฺ + ติ = วิปทตฺติ > วิปตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ถึงความแปลกไป” (คือเคยอยู่ในสภาพปกติกลายเป็นแปลกไปจากปกติ) หมายถึง สถานะที่ผิด, การแสดงออกที่ผิด, ความไม่สำเร็จ, ความวิบัติ, ความเคราะห์ร้าย (wrong state, false manifestation, failure, misfortune)

วิปตฺติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิบัติ” และแผลง เป็น เป็น “พิบัติ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิบัติ : (คำนาม) พิบัติ, ความฉิบหาย, ความหายนะ, ความเป็นอัปมงคล, เช่น ทรัพย์สมบัติวิบัติ; ความเคลื่อนคลาด, ความผิด, เช่น อักขราวิบัติ. (คำกริยา) ฉิบหาย เช่น ขอจงวิบัติทันตาเห็น. (ป., ส. วิปตฺติ).”

แทรก :

ในบทนิยามของพจนานุกรมฯ ตรงคำว่า “อักขราวิบัติ” นั้น คำที่ถูกต้องคือ “อักขรวิบัติ” (อักขร– ไม่ใช่ อักขรา-)

พึงทราบว่า บทนิยามตรงนี้พจนานุกรมฯ มิได้มีความประสงค์หรือจงใจจะใช้คำว่า “อักขราวิบัติ” อันเป็นคำที่เขียนผิด เพื่อเป็นตัวอย่างแสดงความหมายของคำว่า “วิบัติ” ที่หมายถึง “ความเคลื่อนคลาด, ความผิด” ทั้งนี้เพราะคำว่า “อักขรวิบัติ” อันเป็นคำที่เขียนถูกสามารถแสดงความหมายของคำว่า “วิบัติ” ที่หมายถึง “ความเคลื่อนคลาด, ความผิด” ได้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องยกคำที่เขียนผิดขึ้นมาแสดงเป็นตัวอย่างในกรณีเช่นนี้แต่ประการใด

พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 บทนิยามตรงนี้พิมพ์เป็น “อักขราวิบัติ” พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นฉบับชำระแก้ไขปรับปรุงก็ยังคงพิมพ์เป็น “อักขราวิบัติ” อยู่นั่นเอง

ในพจนานุกรมฯ เองก็ไม่มีคำว่า “อักขราวิบัติ” แต่มีคำว่า “อักขรวิบัติ” บอกไว้ดังนี้ –

อักขรวิบัติ : (คำนาม) การเขียน อ่าน หรือออกเสียงไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี.”

(2) หลักธรรม

ในหลักธรรม มีธรรมะชุดหนึ่งเรียกชื่อว่า “วิบัติ 4” เป็นองค์ประกอบในการที่บุคคลทำดีแล้วไม่ได้ผลดี

ขอยกข้อความในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [176] มาแสดงในที่นี้ เพื่อเป็นอุปการะในการศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งเพื่อตอบข้อข้องใจว่า ทำไมเมื่อทำความดีจึงเกิดภาวะที่ชวนให้เราเข้าใจไปว่า “ทำดีไม่ได้ดี

…………..

[176] วิบัติ 4 (ข้อเสีย, จุดอ่อน, ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี แต่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว — Vipatti: failure; defect; unfavourable factors affecting the ripening of Karma.)

1. คติวิบัติ (วิบัติแห่งคติ, คติเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดในกำเนิดต่ำทราม หรือที่เกิดอันไร้ความเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึง ที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินไม่ดี หรือ ทำไม่ถูกเรื่องไม่ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นนั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น ไม่เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดีหรือการเจริญงอกงามของความดีและการที่ผลดีจะปรากฏ แต่กลับเปิดทางให้แก่ความชั่วและผลร้าย — Gati-vipatti: failure as regards place of birth; unfavourable environment, circumstances or career)

2. อุปธิวิบัติ (วิบัติแห่งร่างกาย, รูปกายเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง ร่างกายวิกลวิการ ไม่งดงามบุคลิกภาพไม่ดี ในช่วงสั้นหมายถึง สุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก — Upadhi-vipatti: failure as regards the body; deformed or unfortunate body; unfavourable personality, health or physical conditions.)

3. กาลวิบัติ (วิบัติแห่งกาล, กาลเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกไม่มีความเจริญ หรือบ้านเมืองมีแต่ภัยพิบัติ ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มีการกดขี่เบียดเบียนกันมาก ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ในช่วงสั้นหมายถึง ทำผิดกาลผิดเวลา — Kāla-vipatti: failure as regards time; unfavourable or unfortunate time)

4. ปโยควิบัติ (วิบัติแห่งการประกอบ, กิจการเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง ฝักใฝ่ในทางที่ผิดประกอบกิจการงานที่ผิด หรือมีปกติชอบกระทำแต่ความชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึง เมื่อกระทำกรรมดี ก็ไม่ทำให้ถึงขนาด ไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ทำจับจด ใช้วิธีการไม่เหมาะกับเรื่อง หรือเมื่อประกอบความดีต่อเนื่องมา แต่กลับทำความชั่วหักล้างเสียในระหว่าง — Payoga-vipatti: failure as regards undertaking; unfavourable, unfortunate or inadequate undertaking)

วิบัติ 4 นี้ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในเรื่องการให้ผลของกรรม เพราะการปรากฏของวิบาก นอกจากอาศัยเหตุคือกรรมแล้ว ยังต้องอาศัยฐานคือ คติ อุปธิ กาละ และ ปโยคะ เป็นปัจจัยประกอบด้วย กล่าวคือ จะต้องพิจารณา กรรมนิยาม โดยสัมพันธ์กับปัจจัยทั้งหลายที่เป็นไปตามนิยามอื่นๆ ด้วย เพราะนิยามหรือกฎธรรมชาตินั้นมีหลายอย่าง มิใช่มีแต่กรรมนิยามอย่างเดียว

ดูเพิ่มเติม: “สมบัติ – วิบัติ” บาลีวันละคำ (2,469) 17-3-62

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทุกครั้งที่ท้อแท้ในการทำความดี

: นั่นคือเรากำลังเสียทีความโง่ของตัวเอง

#บาลีวันละคำ (2,468)

16-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *