วีรชน (บาลีวันละคำ 517)
วีรชน
อ่านว่า วี-ระ-ชน
บาลีอ่านว่า วี-ระ-ชะ-นะ
ประกอบด้วย วีร + ชน
“วีร” แปลว่า กล้าหาญ
“ชน” แปลว่า คน
“วีรชน” แปลว่า คนกล้าหาญ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายไว้ว่า “ผู้ที่ได้รับยกย่องว่ามีความกล้าหาญ”
อย่างไรเรียกว่า “วีรชน-คนกล้าหาญ” ?
เพราะ “วีรชน” ของฝ่ายหนึ่ง อาจเป็น “ทรชน” ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้
“วีร” ภาษาลาตินว่า vir, virtus นักภาษาว่าตรงกับ virtue ในภาษาอังกฤษ
ในคัมภีร์บาลี แสดงความหมายของ “วีร” โดยวัดที่การลงมือทำความดี (virtue)
ผู้จะได้นามว่า “วีรชน” เมื่อตัดสินใจทำความดีแล้วจะต้องมีลักษณะดังนี้ –
1 “วิริยวา” (วิริยะวา) – บากบั่นกล้าสู้
2 “ปหู” (ปะหู) – ทำเต็มความสามารถ
3 “วิสวี” (วิสะวี) – รู้งานและแนะนำให้กำลังใจผู้ร่วมงานได้
4 “อลมตฺต” (อะละมัตตะ) – ทำตัวให้เหมาะกับงาน (ไม่ใช่อ้างว่างานนี้ฉันไม่ถนัด)
5 “สูร” (สูระ) – ทำแบบถวายชีวิต (ไม่แล้วไม่เลิก)
6 “วิกฺกนฺต” (วิกกันตะ) – บุกไปข้างหน้าเหมือนม้าโผนศึก
7 “อภีรุ” (อะภีรุ) – ไม่กลัวตาย
8 “อจฺฉมฺภี” (อัจฉัมภี) – ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง
9 “อนุตฺราสี” (อะนุตราสี) – ไม่วิตกกังวล
10 “อปลายี” (อะปะลายี) – ไม่หนีหน้า
11 “ปหีนภยเภรว” (ปะหีนะภะยะเภระวะ) – ทิ้งความกลัวและความหวั่นเกรงไว้เบื้องหลัง
12 “วิคตโลมหํส” (วิคะตะโลมะหังสะ) – ไม่ตื่นเต้นหรือตื่นตระหนก
ลองสำรวจกันดูว่าวีรชนคนไหนมีคุณสมบัติสมกับเป็นวีรชนตัวจริงบ้าง
: จะทำบุญ แต่ยังกลัวจน ยังไม่ใช่วีรชนตัวจริง
14-10-56