บาลีวันละคำ

สวรรคต (บาลีวันละคำ 1,592)

สวรรคต

อ่านว่า สะ-หฺวัน-คด

บาลีเป็น “สคฺคคต” อ่านว่า สัก-คะ-คะ-ตะ

ประกอบด้วย สคฺค + คต

(๑) “สคฺค

รากศัพท์มาจาก สุ ( = ดี, งาม) + อคฺค ลบ อุ ที่ สุ (สุ > )

อคฺค” มีความหมายว่า เด่น, ยอดเยี่ยม, ดีที่สุด, สูงสุด, สำคัญที่สุด (illustrious, excellent, the best, highest, chief)

: สุ > + อคฺค = สคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่ดำรงอยู่ยืนนานและสวยงาม” (2) “แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณ” (3) “แดนที่มีอารมณ์อันเลิศ” (คือได้พบเห็นสัมผัสแต่สิ่งที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจ) (4) “แดนที่ติดข้อง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล สคฺค ว่า heaven, the next world (สวรรค์, โลกหน้า) แล้วขยายความว่า popularly conceived as a place of happiness and long life (ตามมโนภาพทั่วๆ ไป เข้าใจกันว่าเป็นสถานที่มีควมสุขและมีอายุยืน)

สคฺค” สันสกฤตเป็น “สฺวรฺค” ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สวรรค์” (สะ-หฺวัน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สวรรค-, สวรรค์ : (คำนาม) โลกของเทวดา, เมืองฟ้า. (ส. สฺวรฺค; ป. สคฺค).”

ตามปกติคำว่า “สคฺค” หมายถึง สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี

แต่ความหมายในวงกว้าง “สคฺค” หมายถึงเทวโลกทุกภพภูมิ

(๒) “คต

บาลีอ่านว่า คะ-ตะ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย (ปัจจัยตัวนี้ใช้หมายถึง อดีตกาล คือแปลว่า “-แล้ว” เช่น กินแล้ว, ทำแล้ว), ลบที่สุดธาตุ (คมฺ > )

: คมฺ > + = คต แปลว่า “ไปแล้ว

สคฺค + คต = สคฺคคต แปลตามศัพท์ว่า “ไปแล้วสู่สวรรค์

สคฺคคต ในภาษาไทยใช้ว่า “สวรรคต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สวรรคต, เสด็จสวรรคต : (ราชาศัพท์) (คำกริยา) ไปสู่สวรรค์, ตาย, (ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี หรือผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นการเฉพาะ เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร). (ส. สฺวรฺค + คต ว่า ไปสู่สวรรค์)”

ข้อสังเกต:

สคฺคคต” ศัพท์เดิมในบาลีมี 2 ตัว คือ ที่ สคฺค (= สวรรค์) ตัวหนึ่ง และ ที่ คต อีกตัวหนึ่ง

แต่ในภาษาไทย “สวรรคต” มี ตัวเดียว

ถ้าแยกคำก็จะเห็นได้ชัดว่าชอบกล กล่าวคือ –

สวรรค + ก็ไม่ใช่ เพราะคำเดิม + คต ไม่ใช่ –

สวรร + คต ก็ไม่ใช่อีก เพราะคำเดิม สวรรค ไม่ใช่ สวรร

สวรรคต” มักมีผู้พูดออกเสียงว่า สะ-หฺวัน-นะ-คด (-หฺวัน-นะ-) เนื่องจาก –หฺวัน- เป็นเสียงแม่ กน ชวนให้มีเสียง นะ- ติดมา

เคยได้ยินมีผู้ออกเสียงว่า สะ-หฺวัน-ระ-คด (-หฺวัน-ระ-) ก็มี คงเนื่องจากเห็นว่า เป็นตัวสะกด

สวรรคต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านไว้ว่า สะ-หฺวัน-คด (ไม่ใช่ –นะ-คด หรือ –ระ-คด)

ถ้าเราไม่พยายามพัฒนาความรู้ทางภาษาให้ลึกไปถึงราก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานในอนาคตอาจรับรองว่า สะ-หฺวัน-นะ-คด และ สะ-หฺวัน-ระ-คด เป็นคำอ่านที่ถูกต้องไปอีกคำหนึ่ง

: สวรรคต < สคฺคคต เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ ดังคาถาบทหนึ่งว่า –

เอวมาทีนวํ  ญตฺวา    อิสฺสรมานสมฺภวํ

ปหาย  อิสฺสรมทํ       ภเว  สคฺคคโต  นโร.

ความถือตัวว่ามีอำนาจเป็นใหญ่ ย่อมเกิดโทษ

คนที่รู้อย่างนี้แล้ว

ขจัดความเมาอำนาจได้

ก็ “สคฺคคต” = ไปสวรรค์ได้

(เปตวัตถุ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๑๒๖)

———————–

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี

———————–

เอวเมว  มนุสฺเสสุ

โย  โหติ  เสฏฺฐสมฺมโต

โส  เจปิ  ธมฺมํ  จรติ

ปเคว  อิตรา  ปชา

สพฺพํ  รฏฺฐํ  สุขํ  เสติ

ราชา  เจ  โหติ  ธมฺมิโก.

ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายก็เช่นนั้นแล

ผู้ใดได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่

ถ้าแม้ผู้นั้นประพฤติเป็นธรรม

ปวงชนทั้งหลายดังฤๅจะไม่ประพฤติตาม

ถ้าเมื่อพระราชาทรงครองธรรม

ทวยราษฎร์ก็ย่อมครองสุขโดยทั่วกัน

(ราโชวาทชาดก จตุกกนิบาต

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๖๓๗)

13-10-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย