พระบรมโกศ (บาลีวันละคำ 1,593)
พระบรมโกศ
อ่านว่า พฺระ-บอ-รม-มะ-โกด
ประกอบด้วย พระ + บรม + โกศ
(๑) “พระ”
มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่องพระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์
(๒) “บรม”
บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :
(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย
: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย”
(2) ป (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: ป + รมฺ = ปรม + ณ = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่”
(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ม ปัจจัย
: ปร + ม = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้”
“ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)
“ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”
(๓) “โกศ”
บาลีเป็น “โกส” (โก-สะ) รากศัพท์มาจาก –
1) กุ (ศัสตราวุธ) + สิ (ธาตุ = อยู่, ผูก, มัด) + อ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ กุ เป็น โอ (กุ > โก), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > ส)
: กุ + สิ = กุสิ + อ = กุสิ > โกสิ > โกส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่อยู่แห่งศัสตรา” (2) “ที่เป็นที่ผูกศัสตราไว้”
2) กุสฺ (ธาตุ = ตัด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ กุ-(สฺ) เป็น โอ (กุสฺ >โกส)
: กุสฺ + ณ = กุสณ > กุส > โกส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนที่พึงขลิบออก” (2) “ส่วนที่ควรตัด” (คือควรแบ่งกัน)
ความหมายเดิมของ “โกส” คือ โพรง, ช่องหรือกล่อง, ที่ล้อมซึ่งมีอะไรก็ตามอยู่ภายใน (any cavity or enclosure containing anything)
ความหมายที่คลี่คลายมาจนลงตัวแล้ว คือ :
(1) ห้องเก็บของหรือคลังพัสดุ, คลังหรือฉาง (a store-room or storehouse, treasury or granary)
(2) ฝักมีด (a sheath)
(3) ภาชนะหรือชามข้าว (a vessel or bowl for food)
(4) รังไหมรอบตัวดักแด้ (a cocoon)
(5) หนังหุ้มอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (หนังหุ้มปลาย) (the membranous cover of the male sexual organ, the praeputium)
“โกส” ในสันสกฤตเป็น “โกษ” และ “โกศ”
ในที่นี้ “โกศ” ใช้ในความหมายตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โกศ ๑ : (คำนาม) สิ่งที่ทำขึ้นสำหรับประกอบนอกพระลองหรือลองที่ใส่พระบรมศพ พระศพ หรือศพ รูปทรงกระบอก ก้นสอบ ปากผาย มีฐาน และมีฝาครอบเป็นเครื่องยอด มีลักษณะแตกต่างกันไปตามอิสริยยศ, ที่ใส่พระบรมอัฐิ พระอัฐิ หรืออัฐิ มีขนาดต่างๆ ฝาครอบมียอด, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระโกศ; คลัง. (ส.).”
พระ + บรม + โกศ = พระบรมโกศ แปลว่า “โกศที่ใส่พระบรมศพ” หรือพูดให้เข้าใจตามภาษาชาวบ้านว่า โกศที่ใส่ศพของพระเจ้าแผ่นดิน
ข้อมูล :
๑. เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 คำแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี ออกพระนามหลายครั้งว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ”
๒. ประกาศสำนักพระราชวังลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรื่องการถวายสักการะพระบรมศพ ออกพระนามเต็มทั้งในชื่อเรื่องและในตัวเรื่องว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
๓. เอกสารเรื่อง พระราชกิจ สรงน้ำพระบรมศพ วันที่ 14 ตุลาคม 2559 ลงนามโดยเลขาธิการพระราชวัง ออกพระนามว่า –
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
๔. เอกสารที่เผยแพร่ในเวลานี้ซึ่งอ้างว่าเป็นของ “อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ” บอกว่า –
คำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” เป็นคำโบราณ ธรรมเนียมภายหลัง การเรียกนามแผ่นดินเรียกตามพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้น ในกรณีนี้ คือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”
อภิปราย :
ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า คำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” น่าจะเป็นคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการนับตั้งแต่เวลาที่ประดิษฐานพระบรมศพบำเพ็ญพระราชกุศล ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ถวายพระเพลิง ไม่ใช่เรียกขานทันทีที่เสด็จสวรรคต
ที่นำข้อมูลที่แตกต่างกันมาเสนอก็เพื่อเป็นทางดำริ มิใช่เพื่อให้ขัดแย้งกัน อันใดมีหลักอยู่แล้ว ก็ควรต้องทำตามหลัก อันใดยังไม่มีหลัก หรือมีแต่ยังไม่แน่นอน ก็ช่วยกันคิด เมื่อตกลงว่าอย่างไร ก็ว่าตามกัน
………….
: ถ้าตกลงกันได้ให้เหมาะๆ
: ก็ไม่ต้องมาทะเลาะกันเอง
14-10-59