นาภี (บาลีวันละคำ 846)
นาภี
อ่านว่า นา-พี
บาลีเป็น “นาภิ” (-ภิ สระ อิ, แต่ที่เป็น “นาภี” ก็มี)
“นาภิ” รากศัพท์มาจาก นภฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อิ ปัจจัย, ทีฆะ อ (ที่ น-) เป็น อา
: นภฺ >นาภ + อิ = นาภิ แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ชิ้นส่วนที่เบียดเพลา” หมายถึง ดุมล้อ หรือแกนกลางของล้อรถ
(2) “อวัยวะที่เหมือนกับดุมล้อ” คืออยู่ตรงกลางเหมือนกัน หมายถึง สะดือ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นาภิ” เป็นภาษาอังกฤษว่า –
(1) the navel = สะดือ
(2) the nave of a wheel = ดุมล้อ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“นาภิ, นาภี ๑ : (คำนาม) สะดือ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนาภี, เช่น พระพุทธรูปส่วนสูงวัดจากพระบาทถึงพระนาภี, ท้อง เช่น ประชวรพระนาภี; ดุมเกวียน, ดุมรถ; ศูนย์กลาง. (ป., ส.).”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดความหมายที่ว่า ดุมเกวียน, ดุมรถ ออกไป และแก้ไขบทนิยามเป็นดังนี้ –
“นาภิ, นาภี ๑ : (คำนาม) สะดือ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนาภี, เช่น พระพุทธรูปส่วนสูงวัดจากพระบาทถึงพระนาภี, ท้อง เช่น ประชวรพระนาภี; ศูนย์กลาง เช่น อันไพโรจรูจี ในนาภีพสุธา (นันโท). (ป., ส.).”
คัมภีร์อภิธานัปทีปิกา คาถาที่ 271 แสดงศัพท์ที่หมายถึง “ท้อง” (อวัยวะ) ไว้ 4 คำ คือ กุจฺฉิ คหณี อุทร คพฺภ ไม่มีคำว่า “นาภี”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“นาภิ, นาภี : (คำนาม) มัธยภาคแห่งล้อ, ดุมล้อรถ; กัสตูรี, มฤคนาภิ, คันธธูลิ (แผลงจาก– คันธธุลี), ชะมด; สะดือ; อธิราช, มหาราช, อธีศวร, พระเจ้าอยู่หัว, ไทเหนือว่า–‘เจ้าเหนือหัว’, พระราชา, นฤบดี; กษัตริย์หรือฮินดูผู้วงศ์วานกษัตริย์ชาตินักรบ; บุตรของปริยวฺรต ชาติ, วงศ์; the nave of a wheel; musk; the navel; an emperor, a sovereign, a paramount lord, a king, a chief; a Kshatriya or Hindū of the regal and military tribe; a race, a family.”
ไม่มีคำแปลที่หมายถึง “ท้อง” เช่นกัน
เป็นอันว่า “นาภี” ที่หมายถึง “ท้อง” (the belly, the abdomen, the stomach; the womb) เป็นความหมายในภาษาไทย
“นาภิ” หรือ “นาภี” บาลีแปลว่า สะดือ และ ดุมล้อ
ขณะที่เขียน บาลีวันละคำ อยู่นี้ยังค้นไม่พบ “นาภี” ในคัมภีร์ที่หมายถึง “ท้อง”
: ท้องหิว ใจอิ่ม
: อันตรายน้อยกว่าท้องอิ่ม แต่ใจหิว
————-
(ตามความสงสัยของท่านอาจารย์ Zamar Sib Oon)
#บาลีวันละคำ (846)
11-9-57