บาลีวันละคำ

อามาสัย (บาลีวันละคำ 845)

อามาสัย

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2557 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ฉบับที่ 1 มีข้อความว่า

…………

ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีพระอาการไม่ปรกติในพระนาภี (ท้อง) และมีพระอาการอ่อนเพลีย คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาจึงได้ถวายการตรวจ ผลการตรวจพบว่า พระอามาสัย (กระเพาะอาหาร) อักเสบ คณะแพทย์ฯ จึงถวายพระโอสถร่วมกับสารอาหารทางหลอดพระโลหิต และขอพระราชทานให้ประทับ ณ โรงพยาบาล และกราบทูลให้ทรงงดพระกรณียกิจสักระยะหนึ่ง

………

มีผู้หารือว่า ‘กระเพาะอาหาร’ ราชาศัพท์ควรเขียนว่า “พระอามาสัย” (ส เสือ) หรือ “พระอามาศัย” (ศ ศาลา)

ในบาลีมีคำว่า “อามาสย” (อา-มา-สะ-ยะ) ประกอบด้วยคำว่า อาม + อาสย

อาม” (อา-มะ) ในบาลีมี 2 คำ –

(1) “อาม” คำหนึ่งเป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” เป็นคำรับ นักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “เออ” ตรงกับที่เราพูดว่า ครับ, ค่ะ, จริงๆ, ทีเดียว, แน่นอนละ (yes, indeed, certainly)

(2) “อาม” อีกคำหนึ่งเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า –

(ก) ดิบ, ยังไม่เสร็จ หมายถึงสิ่งของซึ่งยังทำไม่เสร็จตามขั้นตอน เช่น ภาชนะดินเผาที่ยังไม่ได้เผา (raw, unbaked, unfinished)

(ข) ยังไม่สุก หมายถึงอาหาร เช่น ปลา เนื้อ ที่โดยธรรมดาจะต้องหุงต้มหรือปรุงให้สุกก่อน แต่ยังไม่ได้ทำให้สุก (unbaked, uncooked)

อาม” ในที่นี้เป็นคุณศัพท์ ตามข้อ (2)

อาสย” (อา-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อา (แทนศัพท์ว่า อาคม = มา) + สิ (ธาตุ = นอน) แผลง อิ (ที่ สิ) เป็น เอ แผลง เอ เป็น อย

: อา + สิ > เส > สย = อาสย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (มาถึงแล้วไม่ไปไหน นอนอยู่ที่นั่นเลย)

อาม + อาสย = อามาสย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอนแห่งของดิบ” หมายถึง กระเพาะอาหารที่รับอาหารซึ่งยังมิได้ย่อย หมายถึง ท้อง (receptacle of undigested food = the stomach)

เสริมความรู้ :

อามาสย ตรงกันข้ามกับ “ปกฺกาสย” (ปัก-กา-สะ-ยะ)

ปกฺกาสย” มาจาก ปกฺก (สุกแล้ว) + อาสย = ปกฺกาสย หมายถึง ที่รับอาหารที่ย่อยแล้ว คือ ท้อง (receptacle for digested food = the abdomen)

ในอาการ 32 บอกว่า –

(1) สิ่งที่เข้าไปอยู่ใน “อามาสย” เรียกว่า “อุทริย” (อุ-ทะ-ริ-ยะ) แปลว่า “อาหารใหม่

(2) สิ่งที่เข้าไปอยู่ใน “ปกฺกาสย” เรียกว่า “กรีส” (กะ-รี-สะ) แปลว่า “อาหารเก่า

อามาสย ในบาลี เป็น “อามาศย” และ “อามาศฺรย” ในสันสกฤต (สะกดด้วยอักษรโรมันเป็น āmāśaya & āmāśraya)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อามาศย : (คำนาม) กระเพาะอาหาร the stomach.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “อามาสัย” (ส เสือ-บาลี) หรือ “อามาศัย” (ศ ศาลา-สันสกฤต) ไว้ จึงยังตกลงไม่ได้ว่าคำนี้ควรสะกดอย่างไร

อามาสัย” – ส เสือ สะกดตามบาลี

อามาศัย” – ศ ศาลา สะกดตามสันสกฤต

ในต้นฉบับแถลงการณ์สำนักพระราชวังดังอ้างถึงข้างต้น สะกดคำนี้เป็น “อามาสัย” (ส เสือ)

: กินเพื่ออยู่ อยู่ไปชั่วฟ้าดิน

: อยู่เพื่อกิน อยู่ได้แค่ตาย

—————-

(ตามข้อหารือของ Mathee Ongsiriporn)

#บาลีวันละคำ (845)

10-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *