บาลีวันละคำ

บัลลังก์ – บรรยงก์ (บาลีวันละคำ 4,481)

บัลลังก์บรรยงก์

คนฉลาดเตรียมตัวลงตั้งแต่ก่อนขึ้น

บัลลังก์” อ่านว่า บัน-ลัง

บรรยงก์” อ่านว่า บัน-ยง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บัลลังก์ : (คำนาม) พระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ภายใต้เศวตฉัตร เรียกว่า ราชบัลลังก์, โดยปริยายคํา ราชบัลลังก์ นี้ หมายถึงความเป็นพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ก็ได้; ที่นั่งผู้พิพากษาเมื่อพิจารณาคดีในศาล; ส่วนของสถูปเจดีย์บางแบบ มีรูปเป็นแท่นเหนือคอระฆัง. (คำกริยา) นั่งขัดสมาธิ เรียกว่า นั่งคู้บัลลังก์. (ป. ปลฺลงฺก).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้บทนิยามเป็นว่า –

บัลลังก์ : (คำนาม) พระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร เรียกว่า พระแท่นราชบัลลังก์; ที่นั่งผู้พิพากษาเมื่อพิจารณาคดีในศาล; ส่วนของสถูปเจดีย์แบบลังกา มีรูปเป็นแท่นอยู่เหนือองค์ระฆัง. (คำกริยา) นั่งขัดสมาธิ เรียกว่า นั่งคู้บัลลังก์. (ป. ปลฺลงฺก).

ส่วน “บรรยงก์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บรรยงก์ : (คำนาม) ที่นั่ง. (ส. ปรฺยงฺก; ป. ปลฺลงฺก).”

สรุปว่า “บัลลังก์” กับ “บรรยงก์” หมายถึงสิ่งเดียวกัน

บัลลังก์” รูปคำบาลีเป็น “ปลฺลงฺก” 

บรรยงก์” รูปคำสันสกฤตเป็น “ปรฺยงฺก

กล่าวอีกนัยหนึ่ง “ปลฺลงฺก” ในบาลี เป็น “ปรฺยงฺก” ในสันสกฤต แต่สันสกฤตก็มี “ปลฺยงฺก” อีกรูปหนึ่งด้วย

ปลฺลงฺก” อ่านว่า ปัน-ลัง-กะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปริ (คำอุปสรรค = โดยรอบ) + อกฺ (ธาตุ = ทำตำหนิ, สลักลาย) + ปัจจัย, ลบ , ลบ อิ ที่ (ป)-ริ (ปริ > ปร), แปลง เป็น (ปร > ปล), ซ้อน ลฺ (ปล > ปลฺล), ลงนิคหิตอาคมที่ แล้วแปลงเป็น งฺ (ปลฺล > ปลฺลํ > ปลฺลงฺ-)

: ปริ + อกฺ = ปริก > ปรก > ปลก > ปลฺลก > ปลฺลํก > ปลฺลงฺก แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเขาจำหลักไว้โดยรอบ” 

(2) ปลฺล (การกำจัดกิเลส) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน งฺ ระหว่าง ปลฺล + กรฺ (ปลฺลกรฺ > ปลฺลงฺกรฺ), ลบ รฺ ที่สุดธาตุ

: ปลฺล + กรฺ = ปลฺลกร + กฺวิ = ปลฺลกรกฺวิ > ปลฺลกร > ปลฺลงฺกร > ปลฺลงฺก แปลตามศัพท์ว่า “ที่ (นั่งเพื่อ) กระทำการกำจัดกิเลส” ความหมายนี้เล็งถึงลักษณะการนั่งซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมนิยมนั่งที่เรียกว่า “ขัดสมาธิ” มาจากมูลเดิมคือนั่งขาทับขาหรือขาขัดกันเพื่อเจริญสมาธิ แล้วเลยเรียกท่านั่งเช่นนั้นว่า “นั่งขัดสมาธิ” (-ขัด-สะ-หฺมาด)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปลฺลงฺก” ว่า –

(1) sitting cross-legged (นั่งขัดสมาธิ) :

(ก) กรณีแจกวิภัตติเป็น “ปลฺลงฺเกน” แปลว่า upon the hams (ก้นถึงพื้น)

(ข) รูปประโยค “ปลฺลงฺกํ อาภุชติ” แปลว่า to bend the legs in crosswise (นั่งคู้บัลลังก์)

(2) a divan, sofa, couch (ม้านั่งยาว, เก้าอี้นวมยาว, เก้าอี้นอน)

พจนานุกรมฯ บอกว่า “บรรยงก์” รูปคำสันสกฤตเป็น “ปรฺยงฺก

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปรฺยงฺก” เก็บไว้คู่กับ “ปลฺยงฺก” บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปรฺยงฺก, ปลฺยงฺก : (คำนาม) ‘บรรยงก์, บัลยงก์,’ บิฐ, ที่นอน; a bed.”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “ปลฺยงฺก” ไว้อีกคำหนึ่ง บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปลฺยงฺก : (คำนาม) ‘บัลยงก์,’ บิฐ, เตียงหรือแท่นที่ศัยยา; bedstead.”

โปรดสังเกตว่า “ปรฺยงฺก” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน สะกดเป็นคำไทยว่า “บรรยงก์” ตรงกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ส่วน “ปลฺยงฺก” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน สะกดเป็นคำไทยว่า “บัลยงก์” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บคำนี้ไว้

เตือนใจเอาไว้เตือนมือ : 

บัลลังก์ บัล– บ ไม้หันอากาศ ล สะกด ไม่ใช่ บรรลังก์– บ-รอหัน

บัลลังก์ -ลังก์ ไก่การันต์ เพราะคำเดิม ปลฺลงฺก (ปัลลังกะ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

บัลลังก์

: คนเขลาคิดเพียงแค่ว่า-จะขึ้นไปได้อย่างไร

: คนฉลาดคิดไกลไปถึงว่า-จะขึ้นไปทำอะไร

: แต่บัณฑิตคิดกว้างไปอีกว่า-ทำเพื่อใคร

-และคิดต่อไปว่า-เมื่อไรจึงควรจะลง

#บาลีวันละคำ (4,481)

18-9-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *