ฉายาสาทิสลักษณ์ (บาลีวันละคำ 1,597)
ฉายาสาทิสลักษณ์
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
อ่านว่า ฉา-ยา-สา-ทิด-สะ-ลัก
ประกอบด้วย ฉายา + สาทิส + ลักษณ์
(๑) “ฉายา”
รากศัพท์มาจาก ฉิ (ธาตุ = ตัด) + ย ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ฉิ เป็น อา (ฉิ > ฉา) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ฉิ > ฉา + ย = ฉาย + อา = ฉายา แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “สิ่งที่ตัดความสงสัย” หมายถึง เค้ารูป, ลักษณะที่เหมือน (image)
(2) “สิ่งที่ตัดความเหน็ดเหนื่อย” หมายถึง ที่ร่ม, ร่มเงา (shade, shadow)
ในที่นี้ “ฉายา” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
(๒) “สาทิส”
บาลีอ่านว่า สา-ทิ-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สมาน (เหมือนกัน, เท่ากัน) + ทิสฺ (ธาตุ = ดู, เห็น) + อ ปัจจัย, แปลง สมาน เป็น ส
: สมาน > ส + ทิสฺ + อ = สทิส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ดูเสมอกัน”
(2) สทิส + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ส-(ทิส) เป็น อา (สทิส > สาทิส)
: สทิส + ณ = สทิสณ > สทิส > สาทิส แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งสิ่งที่ดูเสมอกัน”
“สาทิส” หมายถึง เหมือนกัน, เช่นกัน, เท่ากัน (similar, like, equal)
(๓) “ลักษณ์”
บาลีเป็น “ลกฺขณ” (ลัก-ขะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง น เป็น ณ
: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง”
๒) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย”
“ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)
“ลกฺขณ” ใช้ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ลักษณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”
ฉายา + สาทิส + ลักษณ์ = ฉายาสาทิสลักษณ์
อภิปราย :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ฉายาลักษณ์ : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) รูปถ่าย, ใช้ว่า พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์.
(2) สาทิสลักษณ์ : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) ภาพเขียนเหมือนบุคคลจริง, พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ หรือพระฉายาสาทิสลักษณ์ ก็ใช้.
พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “ฉายาสาทิสลักษณ์” ไว้โดยเฉพาะ แต่มีคำว่า “ฉายาสาทิสลักษณ์” อยู่ในบทนิยามคำว่า “สาทิสลักษณ์”
ตามบทนิยามนั้น “ฉายาสาทิสลักษณ์” ก็คือ “สาทิสลักษณ์” นั่นเอง
“สาทิสลักษณ์” หมายถึง ภาพเขียนเหมือนบุคคลจริง ดังนั้น “ฉายาสาทิสลักษณ์” จึงหมายถึง “ภาพเขียนเหมือนบุคคลจริง” เช่นเดียวกัน
คำถาม :
(1) ในเมื่อ “ภาพเขียนเหมือนบุคคลจริง” มีคำเรียกว่า “สาทิสลักษณ์” แล้ว ทำไมจะต้องใช้คำว่า “ฉายาสาทิสลักษณ์” อีก?
(2) ในเมื่อคำว่า “ฉายา” ในคำว่า “ฉายาลักษณ์” หมายถึง “รูปถ่าย” เมื่อเอามาเรียกรวมกันเป็น “ฉายาสาทิสลักษณ์” ย่อมทำให้เกิดปัญหาว่า “ฉายาสาทิสลักษณ์” เป็น “รูปถ่าย” หรือเป็น “ภาพเขียนเหมือนบุคคลจริง” กันแน่?
(3) ถ้าเป็น “ภาพเขียนเหมือนบุคคลจริง” ตามนัยแห่งบทนิยาม จะต้องมีคำว่า “ฉายา” ซึ่งหมายถึง “รูปถ่าย” อยู่ด้วยทำไม?
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอสันนิษฐานว่า
๑ “ฉายาสาทิสลักษณ์” เป็นคำเรียกด้วยความไม่เข้าใจของใครบางคนที่เห็นรูปถ่ายหรือภาพเขียนแล้วไม่รู้ว่าเขามีคำเรียกแยกกันชัดเจนอยู่แล้ว จึงเรียกพัลวันกันไป แต่เผอิญผู้เรียกเช่นนั้นเป็นคนสำคัญระดับ “ผิดไม่ได้” คำว่า “ฉายาสาทิสลักษณ์” จึงกลายเป็นคำเกิดใหม่อีกคำหนึ่ง หรือมิเช่นนั้นก็ –
๒ ผู้คิดคำว่า “ฉายาสาทิสลักษณ์” มีเจตนาจะให้หมายถึง “รูปที่ถ่ายจากภาพเขียน” หมายถึงมี “ภาพเขียนเหมือนบุคคลจริง” แล้วมีผู้เอากล้องถ่ายรูปถ่ายภาพเขียนที่ว่านั้นออกมา ภาพที่ได้ออกมาด้วยวิธีเช่นนี้ จะเรียกว่า “ฉายาลักษณ์” ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้ถ่ายจากบุคคลจริง จะเรียกว่า “สาทิสลักษณ์” ก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ภาพที่เขียนขึ้นมาจริงๆ จึงต้องเป็น “ฉายาสาทิสลักษณ์” หมายถึง รูปที่ถ่ายจากภาพเขียน
แต่ความหมายดังกล่าวในข้อ ๒ นี้ พจนานุกรมฯ ไม่ได้เอ่ยถึงไว้เลย
จึงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่า ทำไมจึงเรียกว่า “ฉายาสาทิสลักษณ์”
………..
: ร้อยพันหมื่นภาพที่งามวิจิตร
: ไม่เท่าภาพเดียวที่ ธ สถิตอยู่เหนือดวงใจ
18-10-59