พงศาวดาร [2] (บาลีวันละคำ 3,924)
พงศาวดาร [2]
ทบทวนตำนานกันอีกที
อ่านว่า พง-สา-วะ-ดาน
แยกศัพท์เป็น พงศ + อวดาร
(๑) “พงศ”
บาลีเป็น “วํส” อ่านว่า วัง-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) วนฺ (ธาตุ = คบหา) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่ (ว)-นฺ เป็นนิคหิต (วนฺ > วํ)
: วนฺ + ส = วนส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่แผ่ออกไป” (คือเมื่อ “คบหา” กันต่อๆ ไป คนที่รู้จักกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น)
(2) วสฺ (ธาตุ = อยู่) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (วสฺ > วํส)
: วสฺ + อ = วส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “อยู่รวมกัน”
“วํส” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ไม้ไผ่ (a bamboo)
(2) เชื้อชาติ, เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล (race, lineage, family)
(3) ประเพณี, ขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา, ทางปฏิบัติที่เป็นมา, ชื่อเสียง (tradition, hereditary custom, usage, reputation)
(4) ราชวงศ์ (dynasty)
(5) ขลุ่ยไม้ไผ่, ขลุ่ยผิว (a bamboo flute, fife)
(6) กีฬาชนิดหนึ่งซึ่งอุปกรณ์การเล่นทำด้วยไม้ไผ่ (a certain game)
ในที่นี้ “วํส” มีความหมายตามข้อ (2) และ (4)
บาลี “วํส” สันสกฤตเป็น “วํศ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วงศ” เขียนเป็น “วงศ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“วงศ-, วงศ์ : (คำนาม) เชื้อสาย, เหล่ากอ, ตระกูล. (ส. วํศ; ป. วํส).”
และแผลงเป็น “พงศ์” ด้วย พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“พงศ-, พงศ์ : (คำนาม) เชื้อสาย, เทือกเถา, เหล่ากอ, สกุล. (ส.; ป. วํส).”
โปรดสังเกตคำนิยามของพจนานุกรมฯ –
วงศ์ : เชื้อสาย, เหล่ากอ, ตระกูล
พงศ์ : เชื้อสาย, เทือกเถา, เหล่ากอ, สกุล
ถ้ารู้เหตุผลว่าทำไมจึงให้คำนิยามยักเยื้องกัน เราก็จะได้ปัญญาเพิ่มขึ้น
(๒) “อวดาร”
เขียนแบบบาลีเป็น “อวตาร” อ่านว่า อะ-วะ-ตา-ระ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + ตรฺ ธาตุ = ข้าม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ ต-(รฺ) เป็น อา (ตรฺ > ตาร)
: อว + ตรฺ = อวตรฺ + ณ = อวตรณ > อวตร > อวตาร แปลตามศัพท์ว่า “การข้ามลง” “ที่เป็นเครื่องข้ามลง”
แต่ในคัมภีร์บาลียังไม่พบศัพท์ “อวตาร” คำที่มาจากรากศัพท์เดียวกันที่มีในคัมภีร์ คือ “โอตาร” (โอ-ตา-ระ)
“โอตาร” มีกระบวนการทางไวยากรณ์เหมือน “อวตาร” ต่างกันแต่แปลง “อว” เป็น “โอ”
: อว + ตรฺ = อวตรฺ + ณ = อวตรณ > อวตร > อวตาร > โอตาร
“อว” แปลง เป็น “โอ” พบได้ทั่วไปในบาลี หรือจะกล่าวก็ได้ว่า อุปสรรคคำนี้มี 2 รูป เป็น “อว” รูปหนึ่ง เป็น “โอ” อีกรูปหนึ่ง ในที่นี้บาลีใช้รูป “โอ”
“โอตาร” (อวตาร) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) จุติ, การเข้าถึง, ใกล้เข้ามา (descent to, approach to, access)
(2) โอกาส, จังหวะ (chance, opportunity)
(3) การเข้าถึง (access)
(4) ความโน้มเอียงไปทาง, ความเป็นกันเอง, ความคุ้นเคย, การเข้าใกล้ (inclination to, being at home with, approach, familiarity)
(5) แสวงหาอะไรบางอย่าง, สอดแนม, เสาะหา; โทษ, ความผิด, มลทินหรือการตำหนิข้อบกพร่อง, ช่องโหว่ (being after something, spying, finding out; fault, blame, defect, flaw)
บาลี “โอตาร” สันสกฤตใช้เป็น “อวตาร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อวตาร : (คำนาม) การจุติของเทพดา; การเอาร่างของพระวิษณุ; (คำเยินยอ) ‘พระอวตาร,’ ผู้เลื่อมใสหรือสูงศักดิ์; descent of a deity from heaven; incarnation of Vishṇu; (a flattery) ‘Avatāra,’ a pious or distinguished person.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“อวตาร : (คำกริยา) แบ่งภาคมาเกิดในโลก (ใช้แก่พระนารายณ์) เช่น พระนารายณ์อวตารเป็นปลา. (ส.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“อวตาร : การลงมาเกิด, การแบ่งภาคมาเกิด, เป็นความหมายในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เช่น พระนารายณ์อวตาร คือแบ่งภาคลงมาจากสวรรค์มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นต้น.”
วํส + อวตาร = วํสาวตาร (วัง-สา-วะ-ตา-ระ)
ในภาษาไทย:
“วํส” เป็น “พงศ”
“อวตาร” (ต เต่า) เป็น “อวดาร” (ด เด็ก)
: วํสาวตาร > พงศาวดาร
โปรดทราบว่า ที่แสดงมานี้ว่าไปตามหลักภาษา ในบาลียังไม่พบคำว่า “วํสาวตาร” และคำว่า “พงศาวดาร” ในภาษาไทยก็ยังไม่พบคำอธิบายว่าแผลงมาจาก “วํสาวตาร”
คำว่า “พงศาวดาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“พงศาวดาร : (คำนาม) เรื่องราวของเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศชาติหรือพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศชาตินั้น เช่น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์.”
อภิปรายขยายความ :
ไทยเรามีคตินิยมว่า พระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพระนารายณ์อวตารลงมาดับเข็ญ เรียกว่า “พระอวตาร” (ตัดมาจาก “พระนารายณ์อวตาร”) จึงเรียกเรื่องราวความเป็นไปของพระมหากษัตริย์ว่า “พงศาวดาร” (โปรดสังเกตว่า เรื่องในพงศาวดารมักจะหนักไปในทางเล่าเหตุวิกฤตของบ้านเมือง ที่พูดถึงเหตุการณ์ยามปกติสุขมีน้อย)
เคยมีนักคิดสมัยใหม่วิจารณ์ว่า พงศาวดารมีแต่เรื่องพระมหากษัตริย์ ไม่เห็นมีเรื่องสามัญชนหรือประชาชนทั่วไป
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็ต้องศึกษาสภาพสังคมสมัยที่เขียนพงศาวดาร เช่น ความนิยมหรือความสามารถในการบันทึกเรื่องราว สามัญชนหรือประชาชนทั่วไปสมัยนั้นนิยมเขียนหนังสือกันมากน้อยแค่ไหน เขียนแล้วเก็บรักษาวัตถุที่ใช้บันทึกกันอย่างไร-อย่างนี้เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สมัยนี้เราไม่ต้องโอดครวญอีกแล้วว่าพงศาวดารมีแต่เรื่องพระมหากษัตริย์ เพราะเราทุกคนมีสิทธิ์เขียนพงศาวดารของตัวเองได้อยู่แล้ว
ปัญหาคงมีแต่เพียงว่า เรามีเรื่องอะไรที่ควรจะเขียนพงศาวดารของตัวเองได้บ้างหรือไม่ ความไม่ดีที่เราทำเราจะกล้าเขียนไว้เป็นพงศาวดารของตัวเองหรือไม่ หรือจะเลือกเขียนเฉพาะเรื่องดีๆ ซึ่งถ้าทำเช่นนั้น ก็คงจะถูกคนวิจารณ์ด้วยเหตุผลเดียวกับที่วิจารณ์พงศาวดารว่า พงศาวดารของเรามีแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้น ไม่เห็นมีเรื่องชั่วๆ ที่ทำไว้บ้างเลย
จะเห็นได้ว่า “พงศาวดาร” มีแง่มุมให้คิดให้วิจารณ์มากว่าประเด็น-ทำไมจึงมีแต่เรื่องของคนนั้น ทำไมไม่มีเรื่องของคนโน้น
แถม :
ผู้เขียนบาลีวันละคำมีข้อสังเกตส่วนตัวว่า คนไทยรุ่นใหม่เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตไทยของตัวเอง น้อยลง ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย วรรณคดีไทย ประวัติศาสตร์ไทยซึ่งรวมทั้งพงศาวดาร มีน้อยลงไปอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสมบัติประจำชาติไทยมีน้อยลงไปจนน่าวิตก
และที่น่าวิตกอย่างยิ่งก็คือ พระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มแรกและเป็นแนวหน้าที่ควรจะมีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาถึงระดับ “มืออาชีพ” ปรากฏว่ากำลังจะกลายเป็นกลุ่มที่มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนากะพร่องกะแพร่งลงไปทุกวัน
การไม่รู้หรือไม่มีความรู้เรื่องของตัวเองอย่างเพียงพอเช่นนี้ อุปมาเหมือนคนนุ่งผ้าขาดๆ
ถ้าไม่รีบปรับปรุงแก้ไข หากแต่ปล่อยกันไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ต่อไปอาจถึงขั้นไม่มีผ้าจะนุ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่รู้เรื่องของตัวเอง
เหมือนในกระเป๋ากางเกงกลวงเปล่าไม่มีอะไร
: ถ้าปล่อยนานไป
อาจจะไม่เหลือแม้แต่กางเกง
#บาลีวันละคำ (3,924)
11-3-66
…………………………….
…………………………….