บาลีวันละคำ

สยนทสกะ – ทศวรรษที่สิบแห่งชีวิต (บาลีวันละคำ 2461)

สยนทสกะทศวรรษที่สิบแห่งชีวิต

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานรจนาของพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษ (พุทธศตวรรษที่ 10) ตอนมัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินิทเทส แสดงการพิจารณารูปนามไว้เป็นอเนกนัย ตอนหนึ่งแสดงวิธีพิจารณาชีวิตมนุษย์โดยแบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 10 ช่วง ช่วงละ 10 ปี มีชื่อเรียกดังนี้ –

ช่วงที่ 1 มันททสกะ = 10 ปีแห่งเด็กอ่อน

ช่วงที่ 2 ขิฑฑาทสกะ = 10 ปีแห่งการเล่น

ช่วงที่ 3 วัณณทสกะ = 10 ปีแห่งผิวพรรณ

ช่วงที่ 4 พลทสกะ = 10 ปีแห่งกำลัง

ช่วงที่ 5 ปัญญาทสกะ = 10 ปีแห่งปัญญา

ช่วงที่ 6 หานิทสกะ = 10 ปีแห่งความเสื่อม

ช่วงที่ 7 ปัพภารทสกะ = 10 ปีแห่งความค้อม

ช่วงที่ 8 วังกทสกะ = 10 ปีแห่งความค่อม

ช่วงที่ 9 โมมูหทสกะ = 10 ปีแห่งความหลงลืม

ช่วงที่ 10 สยนทสกะ = 10 ปีแห่งความนอน

ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับภาษาบาลี ภาค 3 หน้า 247

ขอนำคำเรียกช่วงชีวิตแต่ละช่วงมาแสดงความหมายของแต่ละคำเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ตามสติปัญญา

…………..

สยนทสกะ” อ่านว่า สะ-ยะ-นะ-ทะ-สะ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า สยน + ทสกะ

(๑) “สยน

บาลีอ่านว่า สะ-ยะ-นะ รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = นอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ สิ เป็น (สิ > สย), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สิ > สย + ยุ > อน = สยน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่นอน” (2) “การนอน

สยน” หมายถึง การนอน, การนอนหลับ (lying down, sleeping); เตียง, ที่นอน (bed, couch)

(๒) “ทสกะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ทสก” อ่านว่า ทะ-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทส (อ่านว่า ทะ-สะ แปลว่า “สิบ” (จำนวน 10) เป็นคำบอกจำนวน ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สังขยา”) + ปัจจัย

: ทส + = ทสก แปลตามศัพท์ว่า “มีปริมาณสิบ” หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นับรวมกันเป็นกลุ่มได้กลุ่มละสิบ คือ หมวดสิบ, รอบสิบปี, ระยะสิบปี (a decad, decade, a decennial)

สยน + ทสก = สยนทสก เขียนแบบไทยเป็น “สยนทสกะ” แปลว่า “กลุ่มสิบของอายุที่เป็นวัยนอน

ขยายความ :

แนวคิดที่แบ่งช่วงชีวิตเป็นทศวรรษนี้กำหนดให้มนุษย์มีอายุ 100 ปี อันเป็นอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน

สยนทสกะ” เป็นช่วงที่ 10 ของวัย กำหนดตั้งแต่อายุ 91 ถึง 100 อันเป็นเขตสิ้นสุดอายุขัย หากจะอยู่เกินจากนี้ไปบ้างก็อยู่ไปได้อีกไม่นาน ช่วงวัยนี้ท่านว่าอิริยาบถที่มนุษย์ใช้มากที่สุดคือ-นอน

คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสาซึ่งขยายความคัมภีร์วิสุทธิมรรคอีกชั้นหนึ่งขยายความไว้ว่า “สยนพหุโลว  โหติ  ฐานาทิวเสน  สรีรภารํ  วหิตุํ  อสกฺโกนฺโต.”

แปลแบบอธิบายความว่า ที่ต้องมากไปด้วยการนอนก็เพราะในบรรดาอิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถจะแบกน้ำหนักตัวไว้ได้ด้วยอิริยาบถอื่นนอกจากนอน แม้จะยืน เดิน หรือนั่งได้บ้าง แต่ก็ทนได้ไม่นาน อย่างที่คนสูงวัยมักบ่นว่า-นั่งเฉยๆ ก็เหนื่อยแล้ว เพราะฉะนั้นจึงอยู่ได้ด้วยอิริยาบถนอนเป็นส่วนมาก

สยนทสกะ” อาจแปลเป็นคำสั้นๆ ว่า “สิบปีนอน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถึงจะใหญ่คับฟ้าก็แค่เวลาชั่วคราว

: ที่จะอยู่ยืนยาวคือเวลาที่จะได้นอนไปตลอดกาล

#บาลีวันละคำ (2,461) 9-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *