บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำสอนที่สวนทาง (๑)

คำสอนที่สวนทาง (๑)

——————

ช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายกำลังขึ้นหน้า ๑

ขอเรียนว่า ผมไม่มีเคยมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจเป็นส่วนตัวกับบุคคลระดับใดๆ ของสำนักธรรมกาย เจอพระจากวัดธรรมกายที่ไหนผมก็น้อมนมัสการด้วยความเคารพ พระวัดพระธรรมกายมาบ้านผม ผมก็ต้อนรับด้วยความเต็มใจ เพราะบ้านผมเปิดประตูรับสงฆ์อันมาแต่จาตุรทิศ ญาติมิตรที่นับถือธรรมกายก็ยังคบหาสมาคมกันเป็นปกติสุขทุกประการ 

การพูดถึงธรรมกายของผมจึงไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานแห่งอคติใดๆ ทั้งสิ้น

ผมเพียงแต่เห็นว่า ในท่ามกลางกระแสเช่นนี้ควรถือเป็นโอกาสที่จะกระตุ้นเตือนกันและกันให้ศึกษาทำความเข้าใจ

มีคำสอนบางเรื่องของสำนักธรรมกายที่ผมอยากให้สังคมทำความเข้าใจและรู้ทันข้อเท็จจริง

มิใช่เพื่อให้เลิกนับถือหรือยกขบวนไปต่อต้าน

ท่านผู้ใดจะยังคงนับถือ ก็นับถือไป เพราะศรัทธาบังคับกันไม่ได้

การต่อต้านใดๆ ในลักษณะที่ไม่สุภาพ เช่นใช้คำหยาบคายด่าว่า เป็นสิ่งไม่ควรทำ แต่ควรมองกันด้วยเมตตาไมตรี

เมื่อการนับถือศาสนาห้ามศรัทธากันไม่ได้ การทำความเข้าใจเพื่อรู้ทันน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ทำความเข้าใจ-คือศึกษาเรียนรู้ว่า คำสอนที่ธรรมกายยกขึ้นมาเชิดชูนั้น ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทท่านแสดงไว้อย่างไร

เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว มีพื้นฐานพอที่จะรู้ทัน คือรู้ว่าผิดหรือถูก รู้ว่าตนควรมีท่าทีอย่างไรต่อคำสอนนั้นแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละคนที่จะใช้วิจารณญาณได้เอง

เท่านี้ก็น่าจะพอ

ขอยกคำสอนเด่นๆ ของสำนักธรรมกายมาทำความเข้าใจเพียง ๓ เรื่อง

๑ เรื่องนิพพานเป็นอัตตา

๒ เรื่องบริจาคมากได้บุญมาก

๓ เรื่องสร้างศาสนสถานใหญ่โต

————–

๑ เรื่องนิพพานเป็นอัตตา

เรื่องนี้ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจ หรืออาจจะไม่สนใจที่จะเข้าใจเสียด้วยซ้ำไป ได้ยินบางท่านบอกว่านิพพานจะเป็นอัตตาหรือไม่เป็นอัตตาก็ไม่เห็นจะสำคัญอะไร

เรื่องนิพพานเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา

ถ้าไม่สนใจ ก็เหมือนไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา

ถ้าไม่เข้าใจ ก็คือนับถือพุทธศาสนาแบบไม่รู้เป้าหมาย

ถ้าเข้าใจผิด ก็คือนับถือพุทธศาสนาแบบหลงทาง คือแสดงตัวว่าเป็นชาวพุทธ แต่สิ่งที่ตั้งใจปฏิบัตินั้นไม่ใช่พุทธ

เรื่องนิพพาน ผู้รู้ท่านเขียนชี้แจงไว้มากแล้ว เช่นงานนิพนธ์ของพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต เป็นต้น ควรขวนขวายศึกษากันดู

ผมไม่มีความสามารถที่จะอธิบายเรื่องนี้ให้เป็นวิชาการได้ในที่นี้ จะขออนุญาตพูดแบบชาวบ้านพอให้มองเห็นภาพก็แล้วกัน

คือพระพุทธศาสนามีคำสอนเพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติขัดเกลาตนเองจนจิตใจโปร่งโล่งเป็นอิสระอยู่เหนือโลภโกรธหลงทั้งปวง 

สภาพที่จิตใจโปร่งโล่งเป็นอิสระอยู่เหนือโลภโกรธหลงทั้งปวงนี่แหละคือนิพพาน

นิพพานจึงคือคุณภาพของจิตใจ ไม่ใช่ภพภูมิใดๆ ที่มีอยู่ เช่นสวรรค์ชั้นฟ้า หรือเทพหรือพรหม หรือแดนสุขาวดี อันผู้ละโลกนี้แล้วจะไปเกิดอยู่ที่นั่น 

ผู้บรรลุนิพพานไม่ถูกกิเลสตัณหาไสหัวให้ทำชั่วทำผิด 

ถูกทุกข์มากระทบก็ไม่กระเทือน 

เมื่อดับชีพแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะไปเกิดในภพภูมิไหนอีกต่อไป อุปมาเหมือนดวงเทียนที่จุดไว้ เมื่อไส้เทียนเนื้อเทียนถูกเปลวไฟลุกไหม้ไปจนหมดสภาพความเป็นเทียนแล้ว เทียนเล่มนั้นก็ไม่มีอีกต่อไป

สภาพเช่นนี้ไม่ใช่ทฤษฎีทางปรัชญาหรือความคาดเดาในเชิงตรรกะ แต่เป็นสัจธรรม คือเป็นจริงตามที่มันเป็น ใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร มันก็คงเป็นอย่างที่มันเป็น ถ้าใครอยากพิสูจน์ ก็ต้องทำด้วยวิธีปฏิบัติขัดเกลาจิตจนกระทั่งเกิดความเห็นตรงกับความเป็นจริง แต่ไม่ใช่พยายามอธิบายความเป็นจริงให้ตรงกับความเห็นของตน

นี่คือนิพพานไม่ใช่อัตตา

แต่สำนักธรรมกายสอนว่า เมื่อปฏิบัติตามวิธีของธรรมกายจนบรรลุธรรมแล้ว เมื่อดับชีพผู้นั้นก็ไปสถิตอยู่ที่ “อายตนะนิพพาน” แปลตามศัพท์ว่าแดนนิพพาน ซึ่งเป็นภพภูมิชนิดหนึ่ง มีขนาดกว้างยาวเท่าไรบอกไว้เสร็จ และจะสถิตอยู่ที่นั่นเป็นเอกันตบรมสุข คือสุขสุดยอด เป็นอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลไม่มีเวลาสิ้นสุด

นี่คือนิพพานเป็นอัตตา

นิพพานแบบนี้สนองกิเลสของสัตว์โลกได้ดียิ่งนัก เพราะทุกชีวิตไม่อยากตาย แต่อยากเสวยสุขเป็นอมตะตลอดกาล

————–

สัจธรรมมีอยู่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมแตกดับ 

คำที่รู้กันเป็นสามัญคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

หลายท่านรู้เป็นคำบาลีได้ด้วย คือ อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ

อุปปาทะ (อุบ-ปา-ทะ) = เกิดขึ้น 

ฐิติ (ถิ-ติ) = ตั้งอยู่ 

ภังคะ (พัง-คะ) = ดับไป

ผู้ที่จะเป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาซึ่งจะได้บรรลุนิพพานเป็นที่สุดนั้นจะต้องเห็นประจักษ์ใจในสัจธรรมข้อนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ที่มีคำเรียกว่า “ธรรมจักษุ-ดวงตาเห็นธรรม” 

คำบาลีที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือ –

ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ.

(ยังกิญฺจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมัง)

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สิ่งทั้งมวลนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา

ปุถุชนเมื่อดับชีพ ยังมีเหตุปัจจัยให้ต้องเกิดอีก แม้ไม่อยากเกิดก็ต้องเกิด

เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ คือตาย

ตายแล้วก็เกิดอีก ก็ตายอีก

เวียนเกิดเวียนตายอยู่เช่นนี้ เสวยสุขทุกข์ สมหวังผิดหวัง หัวเราะร้องไห้ นับชาติไม่ถ้วน

สภาพเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สังสารวัฏ” เราพูดกันคุ้นปากว่า เวียนว่ายตายเกิด

ถ้าเอาเฉพาะภาพหัวเราะ-ร้องไห้ของแต่ละคนที่เกิดมาในแต่ละชาติมาตัดต่อสลับกันแล้วเอามาฉายดูเหมือนฉายหนัง ก็จะได้เห็นภาพคนบ้าคนหนึ่ง

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบวิธีที่จะหลุดจากวงโคจรบ้านี้ นั่นคือฝึกหัดพัฒนาจิตจนอยู่เหนืออำนาจของโลภโกรธหลงอันเป็นรากเหง้าของปัจจัยที่ทำให้ต้องเกิดอีก

เมื่อไม่มีปัจจัยที่ทำให้เกิด ก็ไม่เกิด

เมื่อไม่เกิด ก็เป็นอมตะ คือไม่ตาย

นิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นอมตะ คือไม่ตายเพราะไม่เกิด 

นิพพานของธรรมกายเป็นอมตะเพราะเกิดแล้วไม่ตาย

สัตว์โลกล้วนปรารถนาว่า เกิดขึ้นแล้วไม่ตาย คือดำรงอยู่ตลอดไป

เมื่อธรรมกายบอกว่า นิพพานเป็นอัตตา คือผู้บรรลุนิพพานจะได้เสวยสุขในแดนนิพพานตลอดไป จึงสนองความปรารถนาของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

แต่ขัดต่อหลักสัจธรรม-ก็คือ-เป็นไปไม่ได้

พุทธภาษิตบทที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ แปลเท่าตัวว่า นิพพานเป็นบรมสุข

เจ้าสำนักธรรมกายที่ราชบุรีท่านแปลเสริมเข้าไปว่า-นิพพานเป็นบรมสุขอันถาวร

คือต้องการจะให้เข้าใจไปว่า ใครบรรลุนิพพานก็จะมีชีวิตอยู่ในแดนนิพพานเป็นอมตะถาวรตลอดไป

เพราะมุ่งจะให้นิพพานเป็นไปตามความอยากเช่นนี้ นิพพานของธรรมกายจึงขัดแย้งกับตัวเองโดยไม่รู้ตัว นั่นก็คือ –

ผู้จะบรรลุนิพพานได้ เบื้องต้นจะต้องได้ธรรมจักษุ-ดวงตาเห็นธรรม คือเห็นประจักษ์แจ้งใจว่า สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ถ้าเข้าใจว่านิพพานเป็นภพภูมิที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แต่ไม่ดับไป ก็ขัดกับหลักสัจธรรม

อันที่จริงเพียงแค่เข้าใจว่านิพพานเป็นภพภูมิคือดินแดนอะไรอย่างหนึ่ง ก็ผิดหลักพระพุทธศาสนาแล้ว

เมื่อเข้าใจนิพพานผิดจากความเป็นจริงก็เท่ากับยังไม่ได้มีธรรมจักษุ-ดวงตาเห็นธรรม อันเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะบรรลุนิพพาน

นิพพานเป็นอัตตาที่ธรรมกายสอนนั้นไม่ต่างจาก “มหาตมัน” หรือ “ปรมาตมัน” ในลัทธิพราหมณ์ซึ่งผู้คนในชมพูทวีปเชื่อถือกันมานานนักหนาก่อนพระพุทธศาสนา

ผู้บรรลุนิพพานของธรรมกายก็ไม่ต่างจากพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม และพระอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่เป็นเทพอมตะอยู่ทุกวันนี้ตามความเชื่อของผู้คนในศาสนาต่างๆ

พระพุทธเจ้าท่านอุตส่าห์ดึงผู้คนให้หลุดออกมาจากความเชื่อชนิดนั้นได้แล้ว

ธรรมกายกลับพยายามดึงกลับเข้าไปอีก

เรื่องนิพพานเป็นอัตตาจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย

แต่เป็นเรื่องที่สามารถกลืนพระพุทธศาสนาให้กลายเป็นศาสนาอื่นไปได้ทั้งศาสนาเลยทีเดียว

————–

ตอนต่อไป-เรื่องบริจาคมากได้บุญมาก

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ เมษายน ๒๕๕๙

๑๕:๐๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *