บาลีวันละคำ

โมมูหทสกะ – ทศวรรษที่เก้าแห่งชีวิต (บาลีวันละคำ 2460)

โมมูหทสกะทศวรรษที่เก้าแห่งชีวิต

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานรจนาของพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษ (พุทธศตวรรษที่ 10) ตอนมัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินิทเทส แสดงการพิจารณารูปนามไว้เป็นอเนกนัย ตอนหนึ่งแสดงวิธีพิจารณาชีวิตมนุษย์โดยแบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 10 ช่วง ช่วงละ 10 ปี มีชื่อเรียกดังนี้ –

ช่วงที่ 1 มันททสกะ = 10 ปีแห่งเด็กอ่อน

ช่วงที่ 2 ขิฑฑาทสกะ = 10 ปีแห่งการเล่น

ช่วงที่ 3 วัณณทสกะ = 10 ปีแห่งผิวพรรณ

ช่วงที่ 4 พลทสกะ = 10 ปีแห่งกำลัง

ช่วงที่ 5 ปัญญาทสกะ = 10 ปีแห่งปัญญา

ช่วงที่ 6 หานิทสกะ = 10 ปีแห่งความเสื่อม

ช่วงที่ 7 ปัพภารทสกะ = 10 ปีแห่งความค้อม

ช่วงที่ 8 วังกทสกะ = 10 ปีแห่งความค่อม

ช่วงที่ 9 โมมูหทสกะ = 10 ปีแห่งความหลงลืม

ช่วงที่ 10 สยนทสกะ = 10 ปีแห่งความนอน

ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับภาษาบาลี ภาค 3 หน้า 247

ขอนำคำเรียกช่วงชีวิตแต่ละช่วงมาแสดงความหมายของแต่ละคำเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ตามสติปัญญา

…………..

โมมูหทสกะ” อ่านว่า โม-มู-หะ-ทะ-สะ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า โมมูห + ทสกะ

(๑) “โมมูห

เป็นรูปคำบาลีที่เราไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก คำที่เราคุ้นกันดีคือ “โมห” (โม-หะ) แต่คำนี้เป็น “โมมูห” อ่านว่า โม-มู-หะ รากศัพท์มาจาก มุห + มุห แผลง อุ ที่ มุ คำหน้าเป็น โอ แล้วลบ (มุห > โมห > โม), ทีฆะ อุ ที่ มุห คำหลังเป็น อู (มุห > มูห),

: มุห + มุห = มุหมุห > โมหมุห > โมมุห > โมมูห แปลตามศัพท์ว่า “ความหลงและความหลง

เทคนิคทางภาษา :

การเอาคำเดียวกันมาซ้อนซ้ำกันเป็น 2 คำคือ มุห + มุห เช่นนี้ เข้าทำนองหลักภาษาบาลีที่เรียกว่า “เทฺวภาว” (ทฺเว-พา-วะ) คือการทำพยัญชนะเดียวให้เป็น 2 แต่ในที่นี้เป็นการเอาคำเดียวกันมาซ้อนกันเป็น 2 คำเพื่อให้มีความหมายเข้มข้นขึ้น (intense-duplex formation การสร้างรูปซ้อนคำแสดงความเข้ม) ดังที่ท่านไขความว่า โมมูห (มุห + มุห) = มหามุฬฺห หมายความว่า “โมมูห” ก็คือ “มหามุฬฺห” คือ หลงมาก หรือหลงเลอะ ไม่ใช่หลงธรรมดา

โมมูห” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ทึบ, เขลา, โง่, หลงใหล, งงงวย (dull, silly, stupid, infatuated, bewildered)

(๒) “ทสกะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ทสก” อ่านว่า ทะ-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทส (อ่านว่า ทะ-สะ แปลว่า “สิบ” (จำนวน 10) เป็นคำบอกจำนวน ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สังขยา”) + ปัจจัย

: ทส + = ทสก แปลตามศัพท์ว่า “มีปริมาณสิบ” หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นับรวมกันเป็นกลุ่มได้กลุ่มละสิบ คือ หมวดสิบ, รอบสิบปี, ระยะสิบปี (a decad, decade, a decennial)

โมมูห + ทสก = โมมูหทสก เขียนแบบไทยเป็น “โมมูหทสกะ” แปลว่า “กลุ่มสิบของอายุที่เป็นวัยหลง

ขยายความ :

แนวคิดที่แบ่งช่วงชีวิตเป็นทศวรรษนี้กำหนดให้มนุษย์มีอายุ 100 ปี อันเป็นอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน

โมมูหทสกะ” เป็นช่วงที่ 9 ของวัย กำหนดตั้งแต่อายุ 81 ถึง 90

ช่วงวัย “ปัพภารทสกะ” และ “วังกทสกะ” เป็นช่วงที่ท่านแสดงความทรุดโทรมในทางรูปธรรมคือรางกาย แต่ “โมมูหทสกะ” เป็นช่วงแห่งความทรุดโทรมในทางนามธรรมคือสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สัญญา” คือความจำ

คัมภีร์วิสุทธิมรรคขยายความไว้ว่า – “ตทา  หิ  โส  โมมูโห  โหติ  กตํ  กตํ  ปมฺมุสฺสติ.” = ตอนนั้นเป็นวัยหลงลืม อะไรที่ทำๆ ไว้ มักลืมง่าย

คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสาซึ่งขยายความคัมภีร์วิสุทธิมรรคอีกชั้นหนึ่งขยายความอีกนิดหนึ่งว่า “โมมูโห  โหติ  สติปญฺญาวิปฺปวาสโต.” = เป็นวัยหลงลืมเพราะสติปัญญาไม่อยู่กับตัว

อาการที่มักได้ยินผู้ดูแลผู้สูงวัยบ่นกันบ่อยๆ ก็อย่างเช่น-กินแล้วก็ว่ายังไม่ได้กิน ยังไม่ได้กินก็บอกว่ากินแล้ว ลูกหลานมานั่งคุยอยู่ด้วยทุกวันก็ถามทุกวันว่านี่ใคร เป็นต้น

มนุษย์วัยนี้ ถ้ามีใครถามถึงก็มักจะถามกันว่า ทวดหลงไหม ปู่หลงไหม ถ้าบอกว่าไม่หลง ก็ชื่นชมกันว่าดีจริงที่ไม่หลง ถ้าหลง ก็ถือว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามสภาพของวัย ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

โมมูหทสกะ” อาจแปลเป็นคำสั้นๆ ว่า “สิบปีหลง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หลงไปตามวันวัยใครจะว่า

: แต่หลงบ้าลาภยศนี่อดสู

: พอไม่มีมีไม่พอกูหนอกู

: กว่าจะรู้ว่ากูหลงก็ลงโลง

#บาลีวันละคำ (2,460)

8-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *