บาลีวันละคำ

ปัญญาทสกะ – ทศวรรษที่ห้าแห่งชีวิต (บาลีวันละคำ 2456)

ปัญญาทสกะทศวรรษที่ห้าแห่งชีวิต

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานรจนาของพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษ (พุทธศตวรรษที่ 10) ตอนมัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินิทเทส แสดงการพิจารณารูปนามไว้เป็นอเนกนัย ตอนหนึ่งแสดงวิธีพิจารณาชีวิตมนุษย์โดยแบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 10 ช่วง ช่วงละ 10 ปี มีชื่อเรียกดังนี้ –

ช่วงที่ 1 มันททสกะ = 10 ปีแห่งเด็กอ่อน

ช่วงที่ 2 ขิฑฑาทสกะ = 10 ปีแห่งการเล่น

ช่วงที่ 3 วัณณทสกะ = 10 ปีแห่งผิวพรรณ

ช่วงที่ 4 พลทสกะ = 10 ปีแห่งกำลัง

ช่วงที่ 5 ปัญญาทสกะ = 10 ปีแห่งปัญญา

ช่วงที่ 6 หานิทสกะ = 10 ปีแห่งความเสื่อม

ช่วงที่ 7 ปัพภารทสกะ = 10 ปีแห่งความค้อม

ช่วงที่ 8 วังกทสกะ = 10 ปีแห่งความค่อม

ช่วงที่ 9 โมมูหทสกะ = 10 ปีแห่งความหลงลืม

ช่วงที่ 10 สยนทสกะ = 10 ปีแห่งความนอน

ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับภาษาบาลี ภาค 3 หน้า 247

ขอนำคำเรียกช่วงชีวิตแต่ละช่วงมาแสดงความหมายของแต่ละคำเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ตามสติปัญญา

…………..

ปัญญาทสกะ” อ่านว่า ปัน-ยา-ทะ-สะ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า ปัญญา + ทสกะ

(๑) “ปัญญา

เขียนแบบบาลีเป็น “ปญฺญา” (มีจุดใต้ ตัวหน้า) อ่านว่า ปัน-ยา รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ ( + ญฺ + ญา)

: + ญฺ + ญา = ปญฺญา + กฺวิ = ปญฺญากฺวิ > ปญฺญา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “การรู้โดยทั่วถึง

นักอธิบายธรรมะอธิบายลักษณะของ “ปญฺญา” โดยอาศัยความหมายตามรากศัพท์ว่า “ปัญญา” มีความหมายว่า –

(1) “รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง

(2) “รู้ล่วงหน้า” (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร)

(3) “รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด

(4) “รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ปญฺญา” ไว้ดังนี้ –

(1) ความหมายตามตัวอักษร :

“intellect as conversant with general truths” (พุทธิปัญญาอันประกอบด้วยความช่ำชองในเรื่องสัจจะโดยทั่วๆ ไป)

(2) intelligence, comprising all the higher faculties of cognition (ความฉลาด, พุทธิปัญญาประกอบด้วยประติชานหรือความรู้ชั้นสูง)

(3) reason, wisdom, insight, knowledge, recognition (เหตุผล, ปัญญา, การเล็งเห็น, ความรู้, ประติชาน)

ปญฺญา” เขียนแบบไทยเป็น “ปัญญา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัญญา : (คำนาม) ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด, เช่น คนมีปัญญา หมดปัญญา. (ป.).”

แถม :

ปญฺญา” ในบาลีเป็น “ปรชฺญา” ในสันสกฤต เราเอามาใช้ในภาษาไทยตามรูปสันสกฤตว่า “ปรัชญา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปรัชญา : (คำนาม) วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง. (ส.).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำว่า “ปฺรชฺญา” แต่มีคำว่า “ปฺรชฺญ, ปฺราชฺญ” และ “ปฺราชฺญ” บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) ปฺรชฺญ, ปฺราชฺญ : (คำคุณศัพท์) ‘ปรัชญ์, ปราชญ์,’ มีความรู้, คงแก่เรียน; ขากรอม – ขากาง – ขาถ่าง – หรือขาเก; wise, learned; baudy-legged, having the knees far apart or having crooked legs. ปรชฺญ (คำนาม) ‘ปรัชญ์,’ สตรีฉลาด; พุทธิ, โพธ, ความรู้; สรัสวดี, ภควดีผู้เปนเจ้าศิลปะและวากศักติ์; a clever woman; understanding, wisdom; knowledge; Saraswati, the goddess of art and eloquence.

(2) ปฺราชฺญ : (คำคุณศัพท์) ‘ปราชญ์’ หมั่นค้น; ฉลาด; patient in investigation; wise;- (คำนาม)  บัณฑิต, นรผู้คงแก่เรียนหรือฉลาด; นรผู้เฉลียวฉลาด’ โพธ, พุทธิ, ความรู้; สตรีผู้ฉลาด; วธูของบัณฑิต; a Paṇḍit, a learned or wise man; a skilful man; knowledge, understanding; an intelligent woman; the wife of a Paṇḍit.

ปรัชญา” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า philosophy

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล philosophy เป็นบาลีดังนี้ –

(1) tattaññāṇa ตตฺตญฺญาณ (ตัด-ตัน-ยา-นะ) = ความรู้ในหลักความจริง

(2) ñāyasattha ญายสตฺถ (ยา-ยะ-สัด-ถะ) = หลักวิชาว่าด้วยความจริง

(๒) “ทสกะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ทสก” อ่านว่า ทะ-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทส (อ่านว่า ทะ-สะ แปลว่า “สิบ” (จำนวน 10) เป็นคำบอกจำนวน ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สังขยา”) + ปัจจัย

: ทส + = ทสก แปลตามศัพท์ว่า “มีปริมาณสิบ” หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นับรวมกันเป็นกลุ่มได้กลุ่มละสิบ คือ หมวดสิบ, รอบสิบปี, ระยะสิบปี (a decad, decade, a decennial)

ปญฺญา + ทสก = ปญฺญาทสก เขียนแบบไทยเป็น “ปัญญาทสกะ” แปลว่า “กลุ่มสิบของอายุที่เป็นวัยมีปัญญา

ขยายความ :

แนวคิดที่แบ่งช่วงชีวิตเป็นทศวรรษนี้กำหนดให้มนุษย์มีอายุ 100 ปี อันเป็นอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน

ปัญญาทสกะ” เป็นช่วงที่ 5 ของวัย กำหนดตั้งแต่อายุ 41 ถึง 50 ท่านว่าช่วงวัยนี้สติปัญญาความคิดอ่านของมนุษย์ทั่วไปอยู่ในระดับผ่องใสเต็มที่ เป็นวัยที่เหมาะแก่การขบคิดปริศนาทั้งปวงของชีวิต

คัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายไว้ว่า แม้คนที่ปัญญาทึบมากๆ พออายุถึงช่วง “ปัญญาทสกะ” ก็พอจะสามารถแสดงความฉลาดให้เห็นได้บ้างอยู่เหมือนกัน

คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสาซึ่งขยายความคัมภีร์วิสุทธิมรรคอีกชั้นหนึ่งให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า –

ปญฺจเม  ทสเก  โยพฺพนมทสฺส  ทูรีภาเวน  เยภุยฺเยน  กิเลสตนุตาย  ปญฺญา  ยถารหํ  สุวิสทา  โหติ.

แปลตรงๆ คงจะเข้าใจยากอยู่สักหน่อย จึงขออนุญาตแปลแบบขยายความไปในตัวดังนี้ –

ในช่วง 10 ปีที่ 5 คือช่วงอายุ 40-50 มนุษย์พ้นวัยหนุ่มสาวมาแล้วจึงมีสติปัญญาผ่องใสดีขึ้นตามวัย เนื่องจากวัยหนุ่มสาวนั้นความคิดจิตใจมักหมกมุ่นอยู่กับรูปร่างหน้าตาของตัวเอง สติปัญญาที่จะคิดอ่านเรื่องอื่นๆ จึงมีน้อย ดังคำเก่าพูดว่า “ยังอ่อนแก่ความ” กับอีกประการหนึ่ง ท่านว่าวัยนี้เป็นช่วงวัยที่ชีวิตผ่านพบสัจธรรมมาพอสมควร รู้จักควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น เอาชนะกิเลสในใจได้ง่ายขึ้น สติปัญญาจึงมีโอกาสฉายแสงได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นทั้งก่อนหน้านี้-และหลังจากนี้ไป

ปัญญาทสกะ” อาจแปลเป็นคำสั้นๆ ว่า “สิบปีรู้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ถึงจะรู้ทั่วไตรภพจบจักรวาลแสนล้านรู้

: ถ้ายังไม่รู้จักตัวกู

: ก็คือยังไม่รู้อะไรเลย

#บาลีวันละคำ (2,456)

4-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *