พลทสกะ – ทศวรรษที่สี่แห่งชีวิต (บาลีวันละคำ 2455)
พลทสกะ – ทศวรรษที่สี่แห่งชีวิต
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานรจนาของพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษ (พุทธศตวรรษที่ 10) ตอนมัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินิทเทส แสดงการพิจารณารูปนามไว้เป็นอเนกนัย ตอนหนึ่งแสดงวิธีพิจารณาชีวิตมนุษย์โดยแบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 10 ช่วง ช่วงละ 10 ปี มีชื่อเรียกดังนี้ –
ช่วงที่ 1 มันททสกะ = 10 ปีแห่งเด็กอ่อน
ช่วงที่ 2 ขิฑฑาทสกะ = 10 ปีแห่งการเล่น
ช่วงที่ 3 วัณณทสกะ = 10 ปีแห่งผิวพรรณ
ช่วงที่ 4 พลทสกะ = 10 ปีแห่งกำลัง
ช่วงที่ 5 ปัญญาทสกะ = 10 ปีแห่งปัญญา
ช่วงที่ 6 หานิทสกะ = 10 ปีแห่งความเสื่อม
ช่วงที่ 7 ปัพภารทสกะ = 10 ปีแห่งความค้อม
ช่วงที่ 8 วังกทสกะ = 10 ปีแห่งความค่อม
ช่วงที่ 9 โมมูหทสกะ = 10 ปีแห่งความหลงลืม
ช่วงที่ 10 สยนทสกะ = 10 ปีแห่งความนอน
ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับภาษาบาลี ภาค 3 หน้า 247
ขอนำคำเรียกช่วงชีวิตแต่ละช่วงมาแสดงความหมายของแต่ละคำเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ตามสติปัญญา
…………..
“พลทสกะ” อ่านว่า พะ-ละ-ทะ-สะ-กะ
ประกอบด้วยคำว่า พล + ทสกะ
(๑) “พล”
บาลีอ่านว่า พะ-ละ รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + อ ปัจจัย
: พล + อ = พล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู”
“พล” ในบาลีใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ :
(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)
(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)
คำที่เขียนว่า “พล” ในภาษาไทย :
ถ้าใช้ตามลำพังอ่านว่า พน
ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า พน-ละ- ก็มี อ่านว่า พะ-ละ- ก็มี
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พล” ไว้ดังนี้ –
“พล, พล– [พน, พนละ-, พะละ-] : (คำนาม) กำลัง, มักใช้ประกอบคำอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มีฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น; ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก; สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ; ยศทหารและตำรวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล). (ป., ส.).”
แถม :
ในคัมภีร์อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 117 แสดงสิ่งที่เป็น “พล” หรือ “กำลัง” ของบุคคลต่างๆ 8 จำพวกไว้อย่างสนใจ ขอถอดความตามสำนวนของผู้เขียนบาลีวันละคำ ดังนี้ –
(1) โรณฺณพลา ทารกา = การร้องไห้ เป็นกำลังของเด็กอ่อน
(2) โกธพลา มาตุคามา = ความแง่งอน เป็นกำลังของสตรี
(3) อาวุธพลา โจรา = อาวุธดี เป็นกำลังของคนร้าย
(4) อิสฺสริยพลา ราชาโน = อำนาจชี้เป็นชี้ตาย เป็นกำลังของนักปกครอง
(5) อุชฺฌตฺติพลา พาลา = ความจองหอง เป็นกำลังของคนพาล
(6) นิชฺฌตฺติพลา ปณฺฑิตา = ความประพฤติควรแก่การย์ เป็นกำลังของบัณฑิต
(7) ปฏิสงฺขานพลา พหุสฺสุตา = ความเพ่งพินิจ เป็นกำลังของผู้คงแก่เรียน
(8) ขนฺติพลา สมณพฺราหฺมณา = ความอดทนพากเพียร เป็นกำลังของนักพรต
(๒) “ทสกะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ทสก” อ่านว่า ทะ-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทส (อ่านว่า ทะ-สะ แปลว่า “สิบ” (จำนวน 10) เป็นคำบอกจำนวน ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สังขยา”) + ก ปัจจัย
: ทส + ก = ทสก แปลตามศัพท์ว่า “มีปริมาณสิบ” หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นับรวมกันเป็นกลุ่มได้กลุ่มละสิบ คือ หมวดสิบ, รอบสิบปี, ระยะสิบปี (a decad, decade, a decennial)
พล + ทสก = พลทสก เขียนแบบไทยเป็น “พลทสกะ” แปลว่า “กลุ่มสิบของอายุที่เป็นวัยมีกำลัง”
ขยายความ :
แนวคิดที่แบ่งช่วงชีวิตเป็นทศวรรษนี้กำหนดให้มนุษย์มีอายุ 100 ปี อันเป็นอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน
คัมภีร์วิสุทธิมรรคขยายความคำว่า “พลทสก” ไว้ว่า … พลญฺจ ถาโม จ เวปุลฺลํ ปาปุณาติ = กำลังเรี่ยวแรงสมบูรณ์เต็มที่
คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสาซึ่งขยายความคัมภีร์วิสุทธิมรรคอีกชั้นหนึ่งเพิ่มเติมเหตุผลให้อีกหน่อยหนึ่งว่า … อฏฺฐีนํ นฺหารูนญฺจ ถิรภาวปฺปตฺติยา = เพราะกระดูกและเส้นสายต่างๆ เข้าที่แล้วอย่างมั่นคง
“พลทสกะ” เป็นช่วงที่ 4 ของวัย กำหนดตั้งแต่อายุ 31 ถึง 40 ช่วงวัยนี้ร่างกายมีกำลังแข็งแรงเต็มที่ ทำงานหนักได้ดี ทนงานและทนทาน เหนื่อยช้า แต่ฟื้นตัวเร็ว เป็นวัยที่เหมาะแก่การทำงานสมบุกสมบัน ทำงานเพื่อตั้งเนื้อตั้งตัว
“พลทสกะ” อาจแปลเป็นคำสั้นๆ ว่า “สิบปีแรง”
…………..
ดูก่อนภราดา!
อย่าอ้างว่าไม่ทำความดี เพราะไม่มีกำลง
: กำลังกายมีได้ตามวัย
: แต่กำลังใจมีได้ตลอดกาล
#บาลีวันละคำ (2,455)
3-3-62