บาลีวันละคำ

หานิทสกะ – ทศวรรษที่หกแห่งชีวิต (บาลีวันละคำ 2457)

หานิทสกะทศวรรษที่หกแห่งชีวิต

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานรจนาของพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษ (พุทธศตวรรษที่ 10) ตอนมัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินิทเทส แสดงการพิจารณารูปนามไว้เป็นอเนกนัย ตอนหนึ่งแสดงวิธีพิจารณาชีวิตมนุษย์โดยแบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 10 ช่วง ช่วงละ 10 ปี มีชื่อเรียกดังนี้ –

ช่วงที่ 1 มันททสกะ = 10 ปีแห่งเด็กอ่อน

ช่วงที่ 2 ขิฑฑาทสกะ = 10 ปีแห่งการเล่น

ช่วงที่ 3 วัณณทสกะ = 10 ปีแห่งผิวพรรณ

ช่วงที่ 4 พลทสกะ = 10 ปีแห่งกำลัง

ช่วงที่ 5 ปัญญาทสกะ = 10 ปีแห่งปัญญา

ช่วงที่ 6 หานิทสกะ = 10 ปีแห่งความเสื่อม

ช่วงที่ 7 ปัพภารทสกะ = 10 ปีแห่งความค้อม

ช่วงที่ 8 วังกทสกะ = 10 ปีแห่งความค่อม

ช่วงที่ 9 โมมูหทสกะ = 10 ปีแห่งความหลงลืม

ช่วงที่ 10 สยนทสกะ = 10 ปีแห่งความนอน

ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับภาษาบาลี ภาค 3 หน้า 247

ขอนำคำเรียกช่วงชีวิตแต่ละช่วงมาแสดงความหมายของแต่ละคำเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ตามสติปัญญา

…………..

หานิทสกะ” อ่านว่า หา-นิ-ทะ-สะ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า หานิ + ทสกะ

(๑) “หานิ

บาลีอ่านว่า หา-นิ รากศัพท์มาจาก หา (ธาตุ = เสื่อม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อิ ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: หา + ยุ > อน = หาน + อิ = หานิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเสื่อม

หานิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความลดถอย, ความสูญหาย (decrease, loss)

(2) การหมดไป, การเสียไป (falling off, waste)

แถม :

คำอื่นๆ ที่มีความหมายทำนองเดียวกับ “หานิ” ในบาลี คือ –

(1) “หายน” (หา-ยะ-นะ) = ความหายนะ, ความเสื่อม, ความเสื่อมถอยหรือลดลง (diminution, decay, decrease)

(2) “ปริหานิ” (ปะ-ริ-หา-นิ) = ความสูญเสีย, การลดน้อยลง (loss, diminution)

(3) “สํหานิ” (สัง-หา-นิ) = การทำให้หด, การลดลง, การลดน้อยลง (shrinking, decrease, dwindling away)

(4) “ชานิ” (ชา-นิ) = ความสูญเสีย, ความเสื่อม, การริบทรัพย์ (deprivation, loss, confiscation of property)

(๒) “ทสกะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ทสก” อ่านว่า ทะ-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทส (อ่านว่า ทะ-สะ แปลว่า “สิบ” (จำนวน 10) เป็นคำบอกจำนวน ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สังขยา”) + ปัจจัย

: ทส + = ทสก แปลตามศัพท์ว่า “มีปริมาณสิบ” หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นับรวมกันเป็นกลุ่มได้กลุ่มละสิบ คือ หมวดสิบ, รอบสิบปี, ระยะสิบปี (a decad, decade, a decennial)

หานิ + ทสก = หานิทสก เขียนแบบไทยเป็น “หานิทสกะ” แปลว่า “กลุ่มสิบของอายุที่เป็นความเสื่อม

ขยายความ :

แนวคิดที่แบ่งช่วงชีวิตเป็นทศวรรษนี้กำหนดให้มนุษย์มีอายุ 100 ปี อันเป็นอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน

หานิทสกะ” เป็นช่วงที่ 6 ของวัย กำหนดตั้งแต่อายุ 51 ถึง 60 ช่วงวัยนี้เริ่มเป็น “ขาลง” ของชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเสื่อมถอย เป็นวัยที่เริ่มอ่อนล้า เหนื่อยเร็ว ฟื้นตัวช้า

คัมภีร์วิสุทธิมรรคขยายความไว้ว่า –

“ตทา  หิสฺส  ขิฑฺฑารติวณฺณพลปญฺญา  ปริหายนฺติ.” = ตอนนั้น ความสนุกในการกินการเล่นหมดลงไป ผิวพรรณ เรี่ยวแรง และสติปัญญาก็เสื่อมถอย

คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสาซึ่งขยายความคัมภีร์วิสุทธิมรรคอีกชั้นหนึ่งเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “กปลฺลิกาทินิสฺสยวิเสเสน  ปทีปสฺส  สุทฺธตาทิ  วิย”

แปลตามศัพท์บาลีว่า “เปรียบเหมือนความบริสุทธิ์เป็นต้นของดวงประทีปก็โดยความต่างแห่งที่อาศัยมีตะคันเป็นต้น

ถ้ายังไม่เห็นภาพ ก็สมควรจะต้องขยายความ

คำว่า “ตะคัน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า (โปรดดูภาพประกอบด้วย) –

ตะคัน : (คำนาม) เครื่องปั้นดินเผารูปคล้ายจาน สําหรับวางเทียนอบ หรือเผากํายานเมื่อเวลาอบนํ้าทํานํ้าอบไทยเป็นต้น หรือใช้ใส่นํ้ามันตามไฟต่างตะเกียง.”

ตะคัน” แปลจากศัพท์บาลีว่า “กปลฺลิก” (กะ-ปัน-ลิ-กะ) ศัพท์นี้เป็น “กปลฺลก” (กะ-ปัน-ละ-กะ) ก็มี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กปลฺลก” ว่า (1) a small earthen bowl (ชามดินเผาเล็ก ๆ) (2) a frying pan (กระทะ)

อธิบายขยายความว่า เหมือนตะเกียง ถ้าส่วนประกอบต่างๆ ยังใหม่อยู่ แสงตะเกียงก็สุกสว่างดี แต่พอใช้ไปนานๆ หรือเก่าแล้ว แสงตะเกียงก็จะไม่สุกสว่างเหมือนเดิม

เทียบกับอุปกรณ์แสงสว่างสมัยใหม่ก็คือโคมไฟฟ้า ถ้าผิวของดวงโคมยังใสสะอาด แสงไฟก็สว่างสดใส พอใช้ไปนานๆ ผิวของดวงโคมเกิดเป็นฝ้าหรือมีรอยขีดข่วน แสงไฟก็ไม่สว่างสดใสเหมือนเดิม

สติปัญญา เรี่ยวแรง ตลอดจนความสวยงามความผุดผ่อง เปรียบเหมือนแสงไฟ

อวัยวะคือส่วนประกอบต่างๆ ที่รวมกันเป็นร่างกาย เปรียบเหมือนดวงโคม หรือ “ตะคัน” ตามสำนวนในคัมภีร์

เมื่ออายุมากขึ้น ธาตุต่างๆ ที่ประกอบเข้าเป็นร่างกายเสื่อมคุณภาพไปตามวัย นามธรรมเช่นความคิดอ่านและสติปัญญาเป็นต้นที่ต้องอิงอาศัยอยู่กับร่างกายก็แสดงตัวออกมาได้ไม่เต็มที่ อุปมาเหมือนแสงไฟที่อยู่ภายในดวงโคมที่เป็นฝ้าหรือขุ่นมัวไม่สามารถเปล่งความสว่างออกมาให้เห็นได้เต็มที่ฉะนั้น

หานิทสกะ” อาจแปลเป็นคำสั้นๆ ว่า “สิบปีเสื่อม

…………..

แม้ว่าสรรพสิ่งจะเสื่อมถอยไปตามความเป็นจริงของสังขาร (สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นจากส่วนประสมต่างๆ) แต่สิ่งหนึ่งที่-เมื่อใครฝึกตนจนได้บรรลุแล้ว-จะไม่กลับเสื่อมถอยอีก นั่นก็คืออริยภูมิ กล่าวคือมรรคผลนิพพาน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฝึกจิตให้ถึงที่สุด

: แล้วท่านจะเป็นมนุษย์ที่ไม่เสื่อม

#บาลีวันละคำ (2,457)

5-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *