บาลีวันละคำ

ขิฑฑาทสกะ – ทศวรรษที่สองแห่งชีวิต (บาลีวันละคำ 2453)

ขิฑฑาทสกะทศวรรษที่สองแห่งชีวิต

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานรจนาของพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษ (พุทธศตวรรษที่ 10) ตอนมัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินิทเทส แสดงการพิจารณารูปนามไว้เป็นอเนกนัย ตอนหนึ่งแสดงวิธีพิจารณาชีวิตมนุษย์โดยแบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 10 ช่วง ช่วงละ 10 ปี มีชื่อเรียกดังนี้ –

ช่วงที่ 1 มันททสกะ = 10 ปีแห่งเด็กอ่อน

ช่วงที่ 2 ขิฑฑาทสกะ = 10 ปีแห่งการเล่น

ช่วงที่ 3 วัณณทสกะ = 10 ปีแห่งผิวพรรณ

ช่วงที่ 4 พลทสกะ = 10 ปีแห่งกำลัง

ช่วงที่ 5 ปัญญาทสกะ = 10 ปีแห่งปัญญา

ช่วงที่ 6 หานิทสกะ = 10 ปีแห่งความเสื่อม

ช่วงที่ 7 ปัพภารทสกะ = 10 ปีแห่งความค้อม

ช่วงที่ 8 วังกทสกะ = 10 ปีแห่งความค่อม

ช่วงที่ 9 โมมูหทสกะ = 10 ปีแห่งความหลงลืม

ช่วงที่ 10 สยนทสกะ = 10 ปีแห่งความนอน

ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับภาษาบาลี ภาค 3 หน้า 247

ขอนำคำเรียกช่วงชีวิตแต่ละช่วงมาแสดงความหมายของแต่ละคำเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ตามสติปัญญา

…………..

ขิฑฑาทสกะ

อ่านแบบไทยว่า ขิด-ทา-ทะ-สะ-กะ

อ่านแบบบาลีว่า ขิด-ดา-ทะ-สะ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า ขิฑฑา + ทสกะ

(๑) “ขิฑฑา

เขียนแบบบาลีเป็น “ขิฑฺฑา” (มีจุดใต้ ฑฺ ตัวหน้า) อ่านแบบบาลีว่า ขิด-ดา อ่านแบบไทยว่า ขิด-ทา รากศัพท์มาจาก ขิฑฺ (ธาตุ = เล่น, สนุกสนาน) + ปัจจัย, ซ้อน ฑฺ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ขิฑฺ + ฑฺ + = ขิฑฺฑ + อา = ขิฑฺฑา แปลตามศัพท์ว่า “การเล่น” หมายถึง การเล่น, ความร่าเริง, ความเพลิดเพลิน (play, amusement, pleasure)

ขิฑฺฑา” หมายถึงการเล่นสนุกเพื่อความบันเทิงเป็นที่ตั้ง เป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับการทำงานหรือทำกิจธุระ

ขิฑฑา” เป็นคำบาลีที่ไม่พบว่ามีใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้

(๒) “ทสกะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ทสก” อ่านว่า ทะ-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทส (อ่านว่า ทะ-สะ แปลว่า “สิบ” (จำนวน 10) เป็นคำบอกจำนวน ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สังขยา”) + ปัจจัย

: ทส + = ทสก แปลตามศัพท์ว่า “มีปริมาณสิบ” หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นับรวมกันเป็นกลุ่มได้กลุ่มละสิบ คือ หมวดสิบ, รอบสิบปี, ระยะสิบปี (a decad, decade, a decennial)

ขิฑฺฑา + ทสก = ขิฑฺฑาทสก เขียนแบบไทยเป็น “ขิฑฑาทสกะ” (ไม่มีจุดใต้ ตัวหน้า) แปลว่า “กลุ่มสิบของอายุที่เป็นวัยเล่น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและขยายความ “ขิฑฺฑาทสก” ว่า “the decad of play”, i. e. the second 10 years of man’s life, fr. 11 – 20 years of age. (“ทศวรรษแห่งการเล่น”, คือ สิบปีที่สองของชีวิตมนุษย์, จาก 11 ถึง 20 ปี)

ขยายความ :

แนวคิดที่แบ่งช่วงชีวิตเป็นทศวรรษนี้กำหนดให้มนุษย์มีอายุ 100 ปี อันเป็นอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน

ขิฑฑาทสกะ” เป็นอายุในวัยเล่น หรือคำสมัยใหม่ว่าวัยรุ่น กำหนดอายุตั้งแต่ 11 ปี ถึง 20 ปี

มนุษย์ในวัยนี้ท่านว่าหายใจเป็นเรื่องเที่ยว เรื่องกิน เรื่องเล่นสนุก คบเพื่อนที่ชอบในทางเดียวกันแล้วพากันไปเที่ยว แบบที่เราเรียกกันว่า เอาแต่เที่ยวเอาแต่เล่น ไม่ชอบทำการงาน

ถ้ารู้ธรรมชาติของคนวัยนี้ แล้วผ่อนให้ได้เล่นบ้างตามสมควร ก็จะช่วยประคองชีวิตให้ผ่านพ้นวัยนี้ไปได้ด้วยดี

ขิฑฑาทสกะ” อาจแปลเป็นคำสั้นๆ ว่า “สิบปีเล่น

แถม :

ในพระไตรปิฎกแสดงรายการ “ขิฑฑา” หรือการเล่นของชาวชมพูทวีปโบราณไว้หลายอย่าง ขอนำมาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อประดับความรู้และประกอบการศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจวัฒนธรรมการเล่นของมนุษย์

…………..

ในคัมภีร์แบ่ง “ขิฑฑา” เป็น 2 ประเภท คือ การเล่นทางกาย (มีอุปกรณ์การเล่น) และการเล่นทางวาจา (เล่นทำเสียง)

(๑) การเล่นทางกาย มีรายการดังต่อไปนี้ –

(1) หตฺถีหิปิ  กีฬนฺติ = เล่นช้าง

(2) อสฺเสหิปิ  กีฬนฺติ = เล่นม้า

(3) รเถหิปิ  กีฬนฺติ = เล่นรถ

(4) ธนูหิปิ  กีฬนฺติ = เล่นธนู

(5) อฏฺฐปเทหิปิ  กีฬนฺติ = เล่นหมากรุกแถวละ 8 ตา

(6) ทสปเทหิปิ  กีฬนฺติ = เล่นหมากรุกแถวละ 10 ตา (เล่นสกา)

(7) อากาเสหิปิ  กีฬนฺติ = เล่นหมากเก็บ

(8) ปริหารปเถหิปิ  กีฬนฺติ = เล่นชิงนาง

(9) สนฺติกายปิ  กีฬนฺติ = เล่นหมากไหว

(10) ขลิกายปิ  กีฬนฺติ = เล่นโยนบ่วง

(11) ฆฏิกายปิ  กีฬนฺติ = เล่นไม้หึ่ง

(12) สลากหตฺเถนปิ  กีฬนฺติ = เล่นฟาดให้เห็นรูปต่างๆ

(13) อกฺเขนปิ  กีฬนฺติ = เล่นสกา (เล่นตีคลี)

(14) ปงฺกจีเรนปิ  กีฬนฺติ = เล่นเป่าใบไม้

(15) วงฺกเกนปิ  กีฬนฺติ = เล่นไถน้อยๆ

(16) โมกฺขจิกายปิ  กีฬนฺติ = เล่นหกคะเมน

(17) จิงฺคุลเกนปิ  กีฬนฺติ = เล่นกังหัน

(18) ปตฺตาฬฺหเกนปิ  กีฬนฺติ = เล่นตวงทราย

(19) รถเกนปิ  กีฬนฺติ = เล่นรถน้อยๆ

(20) ธนุเกนปิ  กีฬนฺติ = เล่นธนูน้อยๆ

(21) อกฺขริกายปิ  กีฬนฺติ = เล่นเขียนทายกัน

(22) มเนสิกายปิ  กีฬนฺติ = เล่นทายใจกัน

(23) ยถาวชฺเชนปิ  กีฬนฺติ = เล่นเลียนคนพิการ

(๒) การเล่นทางวาจา มีรายการดังต่อไปนี้ –

(1) มุขเภริยํ = เล่นตีกลองปาก

(2) มุขาฬมฺพทํ = เล่นรัวกลองปาก

(3) มุขเทณฺฑิมกํ = เล่นแกว่งบัณเฑาะว์ปาก

(4) มุขวลิมกํ = เล่นผิวปาก

(5) มุขเภรุฬกํ = เล่นเป่าปาก

(6) มุขททฺทริกํ = เล่นตีตะโพนปาก

(7) นาฏิกํ = เล่นร้องรำ

(8) ลาสํ = เล่นโห่ร้อง

(9) คีตํ = เล่นขับเพลง

(10) ทวกมฺมํ = เล่นหัวเราะ

ที่มา:

คัมภีร์ขุทกนิกาย มหานิทฺเทส พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 752

คัมภีร์ขุทกนิกาย จูฬนิทฺเทส พระไตรปิฎกเล่ม 30 ข้อ 686

…………..

ดูก่อนภราดา!

การเมืองไม่ใช่ของเล่น

: ถ้าช่วยกันทำการเมืองให้ถูกธรรม

: ก็จะไม่ถูกคนระยำเข้ามาเล่นการเมือง

#บาลีวันละคำ (2,453)

1-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *