มันททสกะ – ทศวรรษที่หนึ่งแห่งชีวิต (บาลีวันละคำ 2452)
มันททสกะ – ทศวรรษที่หนึ่งแห่งชีวิต
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานรจนาของพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษ (พุทธศตวรรษที่ 10) ตอนมัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินิทเทส แสดงการพิจารณารูปนามไว้เป็นอเนกนัย ตอนหนึ่งแสดงวิธีพิจารณาชีวิตมนุษย์โดยแบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 10 ช่วง ช่วงละ 10 ปี มีชื่อเรียกดังนี้ –
ช่วงที่ 1 มันททสกะ = 10 ปีแห่งเด็กอ่อน
ช่วงที่ 2 ขิฑฑาทสกะ = 10 ปีแห่งการเล่น
ช่วงที่ 3 วัณณทสกะ = 10 ปีแห่งผิวพรรณ
ช่วงที่ 4 พลทสกะ = 10 ปีแห่งกำลัง
ช่วงที่ 5 ปัญญาทสกะ = 10 ปีแห่งปัญญา
ช่วงที่ 6 หานิทสกะ = 10 ปีแห่งความเสื่อม
ช่วงที่ 7 ปัพภารทสกะ = 10 ปีแห่งความค้อม
ช่วงที่ 8 วังกทสกะ = 10 ปีแห่งความค่อม
ช่วงที่ 9 โมมูหทสกะ = 10 ปีแห่งความหลงลืม
ช่วงที่ 10 สยนทสกะ = 10 ปีแห่งความนอน
ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับภาษาบาลี ภาค 3 หน้า 247
ขอนำคำเรียกช่วงชีวิตแต่ละช่วงมาแสดงความหมายของแต่ละคำเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ตามสติปัญญา
…………..
“มันททสกะ” อ่านว่า มัน-ทะ-ทะ-สะ-กะ
ประกอบด้วยคำว่า มันท + ทสกะ
(๑) “มันท”
เขียนแบบบาลีเป็น “มนฺท” อ่านว่า มัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(ก) มนฺทฺ (ธาตุ = หลับ, ฝัน; โง่, เซอะ) + อ ปัจจัย
: มนฺทฺ + อ = มนฺท แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้หลับฝัน” (คือคนที่เอาแต่นอน ไม่ลุกขึ้นทำงาน หมายถึงคนเกียจคร้าน หรือคนที่ไม่มีปัญญาจะคิดอะไร เอาแต่นอนหลับเพิ่มไขมันให้ตัวเอง หมายถึงคนโง่, คนเขลา)
(2) “ผู้โง่เขลา”
(3) “ผู้หลับ” (คือไม่รับรู้อะไร มีแต่นอนหงายดิ้นไปมา หมายถึงเด็กอ่อน)
(ข) มทิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; สรรเสริญ; ประมาท, มัวเมา; หลง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (มทิ > มํทิ > มนฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ (ม)-ทิ (มทิ > มท) (ที่เรียกว่า “สระหน้า” เพราะ มทิ + อ : มทิ เป็นคำหน้า อ เป็นคำหลัง)
: มทิ > มํทิ > มนฺทิ > มนฺท + อ = มนฺท แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ถึงความเฉื่อยชา” (หมายถึงคนเกียจคร้าน, คนเชื่องช้า)
(2) “ผู้สรรเสริญแม้คนที่ไม่ควรสรรเสริญเพราะความเป็นผู้ไม่รู้” (หมายถึงคนโง่, คนเขลา)
(3) “ผู้ร่าเริงแม้ในที่ไม่ควรร่าเริง” (หมายถึงคนโง่, คนเขลา เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรควรทำอะไร)
(4) “ผู้ประมาทในบุญกิริยา” (หมายถึงคนโง่, คนเขลา เพราะไม่รู้ว่าควรทำความดีอย่างไร)
(5) “ผู้เอาอย่างไม่ดีของคนอื่น” (หมายถึงคนโง่, คนเขลา เพราะไม่รู้ว่าควรทำตามใคร ไม่ควรทำตามใคร)
(6) “สิ่งเป็นเหตุให้ลุ่มหลง” (หมายถึงรูปหรือเสียงที่ชวนให้รักให้ชื่นชม)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มนฺท” ไว้ดังนี้ –
(1) slow, lazy, indolent (ช้า, เกียจคร้าน, ขี้เกียจ)
(2) dull, stupid, slow of grasp, ignorant, foolish (โง่, ทึบ, ตื้อ, เขลา, งี่เง่า)
(3) slow, yielding little result, unprofitable (of udaka, water, with respect to fish; and gocara, feeding on fishes (ช้า, เอื่อย, ไม่ได้ประโยชน์ [พูดถึง อุทก น้ำที่เกี่ยวกับปลา; และโคจร อาหารปลา])
(4) soft, tender [with ref. to eyes], lovely, (อ่อนโยน, หวาน [พูดถึงตา], น่ารัก) เช่น “มนฺทกฺขี” having lovely [soft] eyes (มีนัยน์ตาน่ารัก [อ่อนโยน])
ในที่นี้ “มนฺท” หมายถึง เด็กอ่อน
(๒) “ทสกะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ทสก” อ่านว่า ทะ-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทส (อ่านว่า ทะ-สะ แปลว่า “สิบ” (จำนวน 10) เป็นคำบอกจำนวน ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สังขยา”) + ก ปัจจัย
: ทส + ก = ทสก แปลตามศัพท์ว่า “มีปริมาณสิบ” หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นับรวมกันเป็นกลุ่มได้กลุ่มละสิบ คือ หมวดสิบ, รอบสิบปี, ระยะสิบปี (a decad, decade, a decennial)
มนฺท + ทสก = มนฺททสก เขียนแบบไทยเป็น “มันททสกะ” แปลว่า “กลุ่มสิบของอายุที่เป็นเด็กอ่อน”
ขยายความ :
แนวคิดที่แบ่งช่วงชีวิตเป็นทศวรรษนี้กำหนดให้มนุษย์มีอายุ 100 ปี อันเป็นอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน
มนุษย์นั้นตั้งแต่คลอดจนถึงอายุ 10 ปี เป็นช่วงชีวิตที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้ ถ้าไม่มีใครเลี้ยงก็ตาย ซึ่งต่างจากสัตว์หลายๆ ชนิดที่คลอดออกมาแล้วแทบว่าจะสามารถดำรงชีพได้เอง หรือพึ่งพ่อแม่บ้างก็ในช่วงเวลาสั้นๆ
อาจสรุปเป็นเกณฑ์ได้ว่า ลูกคน ตั้งแต่คลอดออกมาต้องพึ่งพ่อแม่อย่างน้อย 10 ปี จึงจะรอดได้ เพราะยังอ่อนอยู่ทั้งสภาพร่างกายและความคิดจิตใจหรืออารมณ์
ตั้งแต่คลอดจนถึงอายุ 10 ปี ท่านจึงเรียกว่า “มันททสกะ” ซึ่งอาจแปลสั้นๆ ว่า “สิบปีอ่อน”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำอย่างไรจึงอยู่รอด เป็นเรื่องสำคัญมาก
: แต่จะอยู่รอดไปเพื่ออะไร เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
#บาลีวันละคำ (2,452)
28-2-62