บาลีวันละคำ

วัณณทสกะ – ทศวรรษที่สามแห่งชีวิต (บาลีวันละคำ 2454)

วัณณทสกะทศวรรษที่สามแห่งชีวิต

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานรจนาของพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษ (พุทธศตวรรษที่ 10) ตอนมัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินิทเทส แสดงการพิจารณารูปนามไว้เป็นอเนกนัย ตอนหนึ่งแสดงวิธีพิจารณาชีวิตมนุษย์โดยแบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 10 ช่วง ช่วงละ 10 ปี มีชื่อเรียกดังนี้ –

ช่วงที่ 1 มันททสกะ = 10 ปีแห่งเด็กอ่อน

ช่วงที่ 2 ขิฑฑาทสกะ = 10 ปีแห่งการเล่น

ช่วงที่ 3 วัณณทสกะ = 10 ปีแห่งผิวพรรณ

ช่วงที่ 4 พลทสกะ = 10 ปีแห่งกำลัง

ช่วงที่ 5 ปัญญาทสกะ = 10 ปีแห่งปัญญา

ช่วงที่ 6 หานิทสกะ = 10 ปีแห่งความเสื่อม

ช่วงที่ 7 ปัพภารทสกะ = 10 ปีแห่งความค้อม

ช่วงที่ 8 วังกทสกะ = 10 ปีแห่งความค่อม

ช่วงที่ 9 โมมูหทสกะ = 10 ปีแห่งความหลงลืม

ช่วงที่ 10 สยนทสกะ = 10 ปีแห่งความนอน

ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับภาษาบาลี ภาค 3 หน้า 247

ขอนำคำเรียกช่วงชีวิตแต่ละช่วงมาแสดงความหมายของแต่ละคำเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ตามสติปัญญา

…………..

วัณณทสกะ” อ่านว่า วัน-นะ-ทะ-สะ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า วัณณ + ทสกะ

(๑) “วัณณ

เขียนแบบบาลีเป็น “วณฺณ” อ่านว่า วัน-นะ รากศัพท์มาจาก วณฺณ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + ปัจจัย

: วณฺณ + = วณฺณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประกาศเนื้อความ

วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :

(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)

(1) สี (colour)

(2) รูปร่าง (appearance)

(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)

(4) ความงาม (beauty)

(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)

(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)

(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)

(8) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)

(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)

(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)

(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)

บาลี “วณฺณ” ภาษาไทยสะกดเป็น “วัณณะ” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

วัณณะ : (คำแบบ) (คำนาม) สี, ผิว; ชนิด, อย่าง. (ป.; ส. วรฺณ). (ดู วรรณ-, วรรณะ).”

คำว่า “คำแบบ” ในวงเล็บ หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

บาลี “วณฺณ” คำพูดทั่วไปในภาษาไทยสะกดเป็น “วรรณ

วรรณ” คำเดียวหรืออยู่ท้ายคำ อ่านว่า วัน

วรรณ-” มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า วัน-นะ- (ต่อด้วยคำนั้น)

ประวิสรรชนีย์เป็น “วรรณะ” อ่านว่า วัน-นะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วรรณ-, วรรณะ : (คำนาม) สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ; ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ; ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร; หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”

ในที่นี้ “วณฺณ” หรือ “วัณณ” หมายถึง ความงามของผิวพรรณ รวมถึงความผุดผ่อง เปล่งปลั่ง สวยงามของร่างกาย (คลุมความหมายตั้งแต่ข้อ (2) ถึงข้อ (6) ตามพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ-ดูข้างต้น)

(๒) “ทสกะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ทสก” อ่านว่า ทะ-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทส (อ่านว่า ทะ-สะ แปลว่า “สิบ” (จำนวน 10) เป็นคำบอกจำนวน ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สังขยา”) + ปัจจัย

: ทส + = ทสก แปลตามศัพท์ว่า “มีปริมาณสิบ” หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นับรวมกันเป็นกลุ่มได้กลุ่มละสิบ คือ หมวดสิบ, รอบสิบปี, ระยะสิบปี (a decad, decade, a decennial)

วณฺณ + ทสก = วณฺณทสก เขียนแบบไทยเป็น “วัณณทสกะ” แปลว่า “กลุ่มสิบของอายุที่เป็นวัยงาม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและขยายความ “วณฺณทสก” ว่า “the ten [years] of complexion or beauty [the 3rd decade in the life of man]. (ทศวรรษ [10 ปี] ของการมีผิวสวย [รอบ 10 ปีที่ 3 ในชีวิตมนุษย์])

ขยายความ :

แนวคิดที่แบ่งช่วงชีวิตเป็นทศวรรษนี้กำหนดให้มนุษย์มีอายุ 100 ปี อันเป็นอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน

วัณณทสกะ” เป็นช่วงที่ 3 ของวัย กำหนดตั้งแต่อายุ 21 ถึง 30 ช่วงวัยนี้ร่างกายเติบโตเต็มที่ กำลังเบ่งบาน เปล่งปลั่ง จิตใจก็กำลังรักสวยรักงาม เป็นวัยที่เอาใจใส่กับรูปร่างหน้าของตัวเองมากเป็นพิเศษ ท่านว่าแม้คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุดก็ยังจะพอเห็นความหล่อความสวยได้บ้างในช่วงวัยนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่าหนุ่มสาวธรรมดาทั่วไปมักมีคู่ครองหรือแต่งงานกันในช่วงอายุ 21 ถึง 30 เป็นส่วนมาก สำหรับสตรีเพศก็เป็นวัยที่ร่างกายสมบูรณ์พร้อมที่สุดที่จะมีลูก ดังที่ภาษาวิชาการสมัยใหม่เรียกว่า “วัยเจริญพันธุ์”

คำว่า “วัยเจริญพันธุ์” นี้ถ้าเขียนล้อเป็น “วัยเจริญพรรณ” (พรรณ > วัณณ) ก็จะสอดคล้องกับคำว่า “วัณณทสกะ” เป็นอย่างยิ่ง

วัณณทสกะ” อาจแปลเป็นคำสั้นๆ ว่า “สิบปีงาม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รูปโฉมงามได้แค่สิบปี

: คุณความดีงามไปชั่วนิรันดร

#บาลีวันละคำ (2,454)

2-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *