ประนม-พนม (บาลีวันละคำ 851)
ประนม-พนม
มาจากคำอะไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ประณม : (คำนาม) การน้อมไหว้. (ส.).
(2) ประนม : (คำกริยา) ยกกระพุ่มมือ, ยกมือขึ้นกระพุ่ม.
(3) ประนมมือ : (คำกริยา) กระพุ่มมือ, พนมมือ ก็ว่า.
(4) พนม : (คำนาม) ภูเขา. (เขมร); ลักษณะของสิ่งที่เป็นพุ่มยอดแหลมอย่างดอกบัวตูม. (คำกริยา) ทําให้มีรูปอย่างดอกบัวตูม เช่น พนมมือ.
(5) พนมมือ : (คำกริยา) กระพุ่มมือ, ประนมมือ ก็ว่า.
สันนิษฐาน :
(1) บาลีมีคำว่า “นม” (นะ-มะ) แปลว่า ความนอบน้อม คำว่า “นโม” ที่เราคุ้นกันดีก็มาจากคำนี้
(2) “นม” รากศัพท์คือ นมฺ ธาตุ = นอบน้อม เติม “ป” (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) เป็น “ปนม” (ปะ-นะ-มะ) รูปคำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น ปณมติ, ปณาเมติ (แปลง น เป็น ณ) คำว่า “ประณาม” ก็มีรากศัพท์เดียวกันนี้
(3) คำว่า “ประณม” (สันสกฤต ตาม พจน.54) ก็ตรงกับ “ปนม > ปณม” ของบาลี คำนี้แปลตามศัพท์ว่า “การนอบน้อมไปข้างหน้า” กิริยาตามวัฒนธรรมชาวตะวันออกคือ ประกบฝ่ามือเข้าด้วยกันแล้วประคองไว้ระหว่างอก ทำอุ้งมือให้เป็นกระพุ้งเล็กน้อยมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม ถือว่างามกว่าแนบฝ่ามือติดกัน
(4) ประณม < ปณม < ปนม ออกเสียง “ป” เพี้ยนเป็น “พ” แล้วเลยเขียนเป็น “พนม” ขึ้นมาอีกรูปหนึ่ง (ป–พ–ผ คำไหนเพี้ยนไปเป็นคำไหนจะง่ายกว่ากัน ควรศึกษาต่อไปอีก)
(5) ลักษณะมือที่ “ประณม” ให้เป็นพุ่มอย่างดอกบัวตูมนี่เองที่ไปเป็นความหมายของคำว่า “พนม” ในภาษาไทย (ดู พจน.ข้างต้น)
(6) คิดเล่นๆ ได้อีกนัยหนึ่ง คือ “ประ” หมายถึง ปะทะ, กระทบ, ระ “นม” ก็คือ นม (ส่วนของร่างกาย อยู่บริเวณหน้าอก) เมื่อประคองมือไว้ระหว่างอก มือจึง “ประนม” คือ กระทบนม ถูกนม โดนนม “ประนม” จึงหมายถึง ยกกระพุ่มมือ, ยกมือขึ้นกระพุ่ม (ดู พจน.ข้างต้น)
สรุปในเบื้องต้น (ซึ่งอาจไม่ใช่ตามนี้) ว่า :
(1) “พนม” เพี้ยนมาจาก “ประนม”
(2) “ประนม” กลายมาจาก ประณม < ปณม < ปนม
อานุภาพของมือที่ประนม :
ประนมมือจากหัวใจที่ไร้เล่ห์
เป็นเสน่ห์นำให้ชิดสนิทสนม
ถึงมนตร์เป่าไปปลายยังคลายปม
มือประนมมัดใจไว้จนตาย
————–
(ตามนัยแห่งคำถามของ เถาวัลย์ บูรพา)
#บาลีวันละคำ (851)
16-9-57