บาลีวันละคำ

ปฏิรูปประเทศ-ปฏิรูปเทส (บาลีวันละคำ 852)

ปฏิรูปประเทศปฏิรูปเทส

ปฏิรูป” (ปะ-ติ-รูบ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) (คำวิเศษณ์) สมควร, เหมาะสม, เช่น ปฏิรูปเทส คือ ถิ่นที่สมควร หรือ ถิ่นที่เหมาะสม.

(2) เทียม, ไม่แท้, เช่น มิตรปฏิรูป.

(3) (คำกริยา) ปรับปรุงให้สมควร เช่น ปฏิรูปบ้านเมือง.

ปฏิรูป” ในคำว่า “ปฏิรูปประเทศ” นี้มีความหมายตามข้อ (3) คำนี้เข้าใจว่าบัญญัติเทียบภาษาอังกฤษว่า reform (re = ปฏิ form = รูป, reform = ปฏิรูป)

พจนานุกรม สอ เสถบุตร ให้ความหมายของ reform ไว้ดังนี้ –

1 เปลี่ยนรูปใหม่, ปฏิรูป, รวบรวมใหม่

2 กลับตัว, แก้ไข, ดัดนิสัย, ดัดแปลงแก้ไขให้ดีขึ้น

ดังนั้น “ปฏิรูปประเทศ” ในภาษาไทยจึงมีความหมายว่า “ปรับปรุงประเทศให้เกิดความเหมาะสม

รูปและเสียงคำว่า “ปฏิรูปประเทศ” พ้องกับคำบาลีว่า “ปฏิรูปเทส” (ปะ-ติ-รู-ปะ-เท-สะ) แต่ความหมายไม่เหมือนกัน

ปฏิรูปเทส” ในบาลีมาจาก ปฏิรูป (คำวิเศษณ์ = พอเหมาะ, สมควร, เหมาะสม, เหมาะเจาะ) + เทส (คำนาม = สถานที่, ถิ่น, ประเทศ) = ปฏิรูปเทส หมายถึง ถิ่นที่เหมาะสม, ดินแดนที่ควรอยู่อาศัยใช้ชีวิต

แง่ภาษา :

ในภาษาบาลี “ปฏิรูปเทส” เป็นคำนามทั้งสองคำ “ปฏิรูป” ขยาย “เทส” คือ ปฏิรูป < เทส บอกให้รู้ว่าเป็นประเทศที่เหมาะสม (a suitable country)

ในภาษาไทย “ปฏิรูป” เป็นกริยา “ประเทศ” เป็นกรรม คือ ปฏิรูป > ประเทศ (to reform the country) ปฏิรูปแล้วจะเป็นประเทศที่เหมาะสมหรือไม่ หรือเหมาะสมสำหรับใคร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

: ปฏิรูปแล้วเหมาะสม ก็ควรชมว่าวิเศษ

: ปฏิรูปแล้วยิ่งซ้ำ ก็เป็นกรรมของประเทศ

#บาลีวันละคำ (852)

17-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *