บาลีวันละคำ

ครูบาอาจารย์ (บาลีวันละคำ 850)

ครูบาอาจารย์

อ่านว่า คฺรู-บา-อา-จาน

ประกอบด้วยคำว่า ครู + บา + อาจารย์

(๑) “ครู

บาลีเป็น “ครุ” (คะ-รุ) ใช้ในภาษาไทยเป็น –

(1) ครุ = หนัก, สำคัญ

(2) ครู = ครู

คำบาลี “ครุ” ในยุคหลังใช้เป็น “คุรุ” ซึ่งตรงกับรูปคำสันสกฤต = ครู

ครุ” ที่หมายถึง “ครู” แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “ผู้ลอยเด่น” (2) “ผู้หลั่งความรู้ไปในหมู่ศิษย์” (3) “ผู้คายความรู้ให้หมู่ศิษย์

แปลตามความหมายที่รับรู้ได้ด้วยความรู้สึกว่า ผู้รับภาระอันหนัก, ผู้ควรแก่การเคารพนับถือ, ผู้ควรได้รับการยกย่อง, ผู้ควรให้ความสำคัญ, ผู้ควรแก่ค่าสูง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ครู ๑ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนศิษย์, ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์. (ป. ครุ, คุรุ; ส. คุรุ).

(๒) “บา

ถ้าเทียบบาลีก็ควรมาจาก “ปา” แต่ยังไม่พบคำว่า “ปา” ในบาลีที่มีความหมายสำเร็จในคำเดียว นอกจากที่เป็นพยางค์หน้าของคำ เช่น ปาเจร, ปาจริย (อาจารย์ของอาจารย์, อาจารย์แต่ปางก่อน) ผู้นิยม “ลากเข้าวัด” หรือ “จับบวช” อาจพอใจที่จะอธิบายว่า “บา” กร่อนมาจาก ๒ คำนี้ หรือจากคำว่า “บาเรียน” (ผู้เล่าเรียน, ผู้รู้ธรรม, ผู้คงแก่เรียน, เปรียญ)

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บา : (ถิ่น-พายัพ) (คำนาม) ครู, อาจารย์; (ถิ่น-พายัพ, อีสาน) ชายหนุ่ม.”

นอกจากนี้ยังมีคำว่า “ครูบา” ซึ่ง พจน.54 บอกไว้ว่า –

ครูบา : (ถิ่น-พายัพ) (คำนาม) ครูผู้สอนกุลบุตร หมายถึง สมภาร, คำใช้เรียกพระเถระผู้เป็นที่เคารพนับถือ ซึ่งมักจะมีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป.”

ครูบา” ในคำว่า “ครูบาอาจารย์” น่าจะมาจากคำนี้

(๓) “อาจารย์

บาลีเป็น “อาจริย” (อา-จะ-ริ-ยะ)ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤต คือ “อาจารฺย” เขียนว่า “อาจารย์” (อา-จาน)

อาจริย” ประกอบด้วยคำว่า อา + จรฺ + อิย = อาจริย

อาจริยอาจารฺยอาจารย์” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์” (2) “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น” (3) “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่” (4) “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”

ข้อสังเกต :

(1) ผู้ทำหน้าที่สอนในสถาบันการศึกษา เคยมีระเบียบกำหนดชื่อตำแหน่งหรือสถานภาพว่า ใครเป็น “ครู” ใครเป็น “อาจารย์” ไว้ชัดเจน

(2) คำเรียกขานในสังคม หากจะเรียก “ครู” ก็เรียกเฉพาะผู้ทำหน้าที่สอนในสถาบันการศึกษา (คือเป็นหรือเคยเป็น “ครู” มาจริงๆ) แต่คำว่า “อาจารย์” อาจใช้เรียกเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่งแม้ผู้ถูกเรียกจะไม่เคยทำหน้าที่สอนในสถาบันการศึกษามาก่อนเลยก็ตาม

(3) ธรรมเนียมทหารเรือไทย นิยมเรียกนายทหารสัญญาบัตรว่า “ครู” เป็นสรรพนามที่สื่อถึงความเคารพและให้เกียรติอย่างหนึ่ง (พบนายทหารเรือที่เราไม่รู้จักเป็นส่วนตัว ใช้สรรพนามเรียก “ครู” ไว้ก่อน จะสร้างความรู้สึกเป็นกันเองหรือ “เป็นพวกเดียวกัน” ได้อย่างสนิทสนม)

(4) คำว่า “ครูบาอาจารย์” เป็นคำจำพวกที่เรียกว่า “คำสร้อยสี่พยางค์” หรือคำคล้องจอง (เช่น ถ้วยโถโอชาม เลี้ยงดูปูเสื่อ มั่งมีศรีสุข ฯลฯ) เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของภาษาไทย ได้ยินคนรุ่นใหม่มักพูดเป็น “ครูอาจารย์” แทนที่จะเป็น “ครูบาอาจารย์” อาจเป็นเพราะคุ้นแต่ “ครู” และ “อาจารย์” แต่ไม่คุ้น ไม่แน่ใจ และไม่รู้ความหมายของคำว่า “บา” จึงทิ้งหรือข้ามคำนี้ไปเสีย เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

: บอกให้จำ ไม่เท่ากับทำให้ดู

: ทำผิดเป็นครู ดีกว่าอวดรู้แต่ไม่เคยทำ

————–

(ตามคำถามของ Fair Play)

#บาลีวันละคำ (850)

15-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *