บาลีวันละคำ

กระฎุมพี (บาลีวันละคำ 853)

กระฎุมพี

อ่านว่า กฺระ-ดุม-พี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กระฎุมพี : (คำนาม) คนมั่งมี, พ่อเรือน, มักนิยมใช้เข้าคู่กับคำ ไพร่ เป็น ไพร่กระฎุมพี หมายความว่า ชนชั้นตํ่า. (ป. กุฎุมฺพิก ว่า คนมั่งมี; ส. กุฏุมฺพี, กุฏุมฺพินฺ ว่า เจ้าบ้าน, ผู้ครองเรือน, คนใช้ในบ้าน).”

กระฎุมพี” บาลีเป็น “กุฏุมฺพิก” (กุ-ตุม-พิ-กะ) มาจาก กุฏุมฺพ + อิก ปัจจัย

“กุฏุมฺพ” (กุ-ตุม-พะ) แปลว่า ทรัพย์สมบัติของตระกูล, หลักทรัพย์, ครอบครัว (family property, estates, family)

กุฏุมฺพ + อิก = กุฏุมฺพิก แปลว่า ผู้มั่งคั่ง, เจ้าของที่ดิน, พ่อเรือน (a man of property, a landlord, the head of a family)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

กุฏุมฺพินฺ : (คำนาม) ชาวนา, ผู้ไถ; ผู้อุปกระหรือมีครอบครัว; คฤหบดี, เจ้าบ้าน, พ่อบ้าน; แม่บ้าน; a peasant, a farmer, a cultivator; one who supports or has a family; a householder, a pater-familias; a matron, the wife of a householder, and mother of a family.”

จะเห็นได้ว่า ในบาลีสันสกฤต กุฏุมฺพิกกุฏุมฺพินฺ ไม่ได้หมายถึงชนชั้นตํ่า เหมือนเมื่อกลายมาเป็น > กระฎุมพี ในภาษาไทย

พจนานุกรม สอ เสถบุตร นอกจากจะแปล “กระฎุมพี” เป็นภาษาอังกฤษว่า a rich man; new rich แล้ว ยังแปลว่า proletarian, vulgar, canaille อีกด้วย ซึ่งอาจเป็นการแปลเพื่อให้สอดรับกับความหมายบางส่วนในภาษาไทยก็ได้

อย่างไรก็ตาม บางคำ เช่น vulgarian (จาก vulgar) หมายถึง “ไพร่ที่ได้ดี, คนที่มีสกุลเป็นไพร่แต่มั่งมีขึ้น” ความหมายนี้มีนัยสัมพันธ์กับความหมายของ กุฏุมฺพิกกุฏุมฺพินฺ > กระฎุมพี ที่หมายถึง ผู้มั่งคั่ง ผู้มีทรัพย์สิน ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับคนที่มั่งมีแบบ vulgarian ก็ได้

คำนี้สอนให้รู้ว่า ภาษาบาลีในภาษาไทยไม่จำเป็นต้อง “จับบวช” หรือ “ลากเข้าวัดไทย” เสมอไป บางทีอาจ “ลากเข้าโบสถ์ฝรั่ง” บ้างก็ได้ด้วย

: หากกิริยาวาจาจะเป็นไพร่กระฎุมพี

: ขอให้จิตใจมั่งคั่งด้วยคุณความดี-ก็พอให้อภัย

—————

(ฉกฉวยมาจากคำของ Pa Ritta โดยเจ้าของอนุญาตด้วยการกดไลค์ให้แล้ว)

#บาลีวันละคำ (853)

18-9-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *