พุทธบริษัท (บาลีวันละคำ 867)
พุทธบริษัท
อ่านว่า พุด-ทะ-บอ-ริ-สัด
ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + บริษัท
(๑) “พุทธ”
เขียนแบบบาลีเป็น “พุทฺธ” อ่านว่า พุด-ทะ
โปรดสังเกตจุดใต้ ทฺ ซึ่งทำให้ ทฺ เป็นตัวสะกด
“พุทฺธ – พุทธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”
“พุทธ” ในภาษาไทย บางกรณีอาจหมายถึง “ศาสนาพุทธ” และบางกรณีอาจหมายถึง “ผู้นับถือศาสนาพุทธ” หรือ “ชาวพุทธ” ก็ได้
(๒) “บริษัท”
บาลีเป็น “ปริสา” (ปะ-ริ-สา) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่ที่มาโดยรอบ” หมายถึง คนที่แวดล้อมอยู่, กลุ่ม, ชุมนุม, ฝูงชน (surrounding people, group, collection, company, multitude)
(2) “ที่เป็นที่พบปะกันโดยรอบ” หมายถึง ที่ประชุม, สมัชชา, สมาคม (a meeting place, assembly, association)
“ปริสา” รูปคำสันสกฤตเป็น “ปริษทฺ” ทางสันสกฤตว่าแปลตามตัวว่า “การนั่งลงรอบๆ” (“sitting round”) ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตว่า “บริษัท”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บริษัท” ไว้ว่า –
(1) หมู่, คณะ, เช่น พุทธบริษัท.
(2) ที่ประชุม เช่น จะพูดอย่างไรต้องดูบริษัทเสียก่อน.
(3) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) รูปแบบการดำเนินกิจการธุรกิจเพื่อหากำไร ที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคล โดยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน มีผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ บริษัทมี ๒ ประเภท คือ บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด.
คำว่า “บริษัท” เรามักเข้าใจกันในความหมายว่า องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจทางการค้า คือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า commercial company แต่ “ปริสา – ปริษทฺ” ในบาลีสันสกฤตมิได้มีความหมายเฉพาะเช่นนี้
พุทฺธ + ปริสา = พุทฺธปริสา > พุทธบริษัท หมายถึง หมู่ชนที่นับถือพระพุทธศาสนา แบ่งเต็มรูปแบบเป็น 4 พวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
“พุทฺธปริสา” เป็นคำที่มีใช้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มาช้านาน
“พุทธบริษัท” ก็เป็นคำที่ใช้พูดและเขียนในภาษาไทยมาช้านาน แต่น่าประหลาดที่ไม่มีเก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน-แม้ในฉบับล่าสุด พ.ศ.2554 !
ในพระไตรปิฎก (มหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๕) แสดงคุณสมบัติของ “พุทธบริษัท” ไว้ชุดหนึ่ง ขอถอดความนำมาสรุปเพื่อจำง่าย ดังนี้ –
(1) ศึกษาเล่าเรียน = ศึกษาให้รู้เข้าใจคำสอนที่ถูกต้องแท้จริงของพระพุทธเจ้า
(2) พากเพียรปฏิบัติ = ปฏิบัติตนให้เป็นคนมีคุณธรรมตามคำสอนนั้นๆ ได้จริง
(3) เคร่งครัดบำรุง = สนับสนุนส่งเสริมเต็มกำลัง ไม่เมินเฉยดูดาย
(4) มุ่งหน้าเผยแผ่ = บอกกล่าวสื่อสารให้ผู้อื่นรู้เข้าใจและชักชวนให้มีธรรมปฏิบัติธรรมด้วยในทุกโอกาสที่สามารถทำได้
(5) แก้ไขให้หมดจด = เมื่อมีผู้ตำหนิติเตียนโดยไม่เป็นธรรม ลบหลู่ดูหมิ่น หรือสอนผิดบอกผิดบิดเบือนด้วยประการใดๆ สามารถออกมาปกป้อง ตอบโต้ชี้แจงได้ด้วยวิธีการของอารยชน
พุทธบริษัท : ทหารของพระพุทธเจ้า
: ไม่มีวันชนะใคร
: ถ้ายังแพ้ใจตัวเอง
#บาลีวันละคำ (867)
2-10-57