กาก (บาลีวันละคำ 866)
กาก
คำที่น่าลากเข้าวัด
“กาก” ที่เป็นคำไทย (?) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) สิ่งที่เหลือเมื่อคั้นหรือคัดเอาส่วนดีออกแล้ว เช่น กากมะพร้าว.
(2) หยากเยื่อ. (หยากเยื่อ = เศษสิ่งของที่ทิ้งแล้ว, มูลฝอย)
(3) เดนเลือก (ใช้เป็นคําด่า) เช่น กากมนุษย์ คนกาก.
ในภาษาบาลีมีคำว่า “กาก” อ่านว่า กา-กะ
“กาก” แปลตามศัพท์ว่า “ทำเสียงว่ากา” “ส่งเสียงว่ากา” รากศัพท์มี 2 ทาง คือ –
(1) กา (เสียงว่า “กา”) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย ลบ รฺ ที่สุดธาตุ
: กา + กรฺ > ก + อ = กาก = “ผู้ทำเสียงว่ากา”
(2) กา (เสียงว่า “กา”) + กา (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ ปัจจัย ลบ อา ที่ธาตุ
: กา + กา > ก + อ = กาก = “ผู้ส่งเสียงว่ากา”
“กาก” หมายถึงสัตว์จำพวกนกที่เราเรียกกันว่า “กา” หรือ “อีกา”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กาก” ว่า the crow
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กา : ชื่อนกขนาดกลางชนิด Corvus macrorhynchos ในวงศ์ Corvidae ปากใหญ่หนาแบนข้าง ตาสีดำ ตัวสีดํา ร้องเสียง “กา ๆ”, อีกา ก็เรียก”
“กา” หรือ “อีกา” นี้ผู้ร้อนวิชารุ่นเก่าเคยเขียนเป็น “กาก์” (การันต์ที่ ก ท้ายศัพท์ อ่านว่า “กา”) เพราะเชื่อว่าชื่อนกชนิดนี้มาจากบาลีสันสกฤตว่า “กาก” แน่นอน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กาก” บอกไว้ดังนี้ –
(1) (คำนาม) กาก์; คนเสียขา a crow; a cripple, one whose legs are useless.
(2) ฝูงกาก์ an assemblage of crows.
(3) (คำคุณศัพท์) อหังการ, ไม่มีความละอาย; arrogant, shameless.
ในคัมภีร์มักเอ่ยถึง “กาก” ในฐานะสัตว์ขี้ขโมย นิสัยไม่ดี ชอบมั่วสุมกับสัตว์จำพวกเลวในสถานที่ที่น่ารังเกียจ
คัมภีร์อังคุตรนิกาย ทสกนิบาต (พระไตรปิฎกเล่ม 24 ข้อ 77) แสดงลักษณะเลวของ “กาก” ไว้ 10 อย่าง คือ –
(1) ธํสี = ระราน
(2) ปคพฺโภ = อวดกล้า
(3) ตินฺติโณ = อยากจัด
(4) มหคฺฆโส = กินจุ
(5) ลุทฺโธ = โลภมาก
(6) อการุณิโก = ใจร้าย
(7) ทุพฺพโล = อ่อนแอ
(8) โอรวี = ปากพล่อย
(9) มุฏฺฐสฺสติ = ปล่อยตัว
(10) เนจยิโก = งก
(คำบาลี : จากพระไตรปิฎก
คำแปล : แปลแบบขบความ)
บุรุษหรือสตรีก็ตาม หากมีโทษสมบัติทั้งสิบนี้ ควรนับว่าเป็น “กาก” คือคนหมดดี หรือเดนเลือก ตามความหมายในภาษาไทยได้อย่างแน่นอน
ในบาลียังมีคำว่า “กาปุริส” (กา-ปุ-ริ-สะ) อีกคำหนึ่ง แปลตามศัพท์ว่า “คนที่น่ารังเกียจ” หมายถึง คนต่ำช้า, คนเลวทราม, คนถ่อย (a low, vile, contemptible man, a wretch)
“กาปุริส” ถ้าอธิบายรากศัพท์ว่า มาจาก กาก (อีกา = กาก) + ปุริส (คน) = กากปุริส แล้วลดรูปลงเป็น “กาปุริส” แปลลากเข้าวัดว่า “คนกาก” สอดรับกับคำและความหมายในพจนานุกรมเป็นอย่างดี
: คนฉลาด ทำชีวิตที่มีแต่กากให้มีคุณค่า
: แต่คนเขลา ทำชีวิตที่มีค่าให้เหลือแต่กาก
#บาลีวันละคำ (866)
1-10-57