ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ (บาลีวันละคำ 2441)
ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์
…………..
ในพระบรมมหาราชวังมีพระที่นั่งหมู่หนึ่ง ตั้งชื่อคล้องจองกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งนับได้ถึง 10 ชื่อ ดังนี้ –
(1) มูลสถานบรมอาสน์
(2) สมมติเทวราชอุปบัติ
(3) ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์
(4) นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร
(5) บรมราชสถิตยมโหฬาร
(6) อมรพิมานมณี
(7) สุทธาศรีอภิรมย์
(8) บรรณาคมสรนี
(9) ปรีดีราชวโรทัย
(10) เทพดนัยนันทยากร
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำชื่อพระที่นั่งแต่ละองค์มาแยกศัพท์และแปลสู่กันฟังตามสติปัญญา เพื่อเป็นอลังการทางภาษาและเป็นเครื่องประเทืองปัญญาตามสมควร
อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อพระที่นั่งเหล่านี้เป็นวิสามานยาม (proper name) การแยกศัพท์และแปลจึงกระทำไปเท่าที่ตาเห็น ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาของผู้ตั้งชื่อก็เป็นได้
อีกประการหนึ่ง ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แยกศัพท์และแปลความหมายเท่านั้น มิได้แสดงรายละเอียดอื่นๆ ของพระที่นั่งแต่ละองค์ประกอบไว้ด้วย
ดังนั้น หากญาติมิตรท่านใดมีข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่แสดงไว้ก็ดี มีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งแต่ละองค์ก็ดี หากจะกรุณานำมาร่วมเสนอไว้เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
…………..
“ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์” อ่านว่า ดำ-รง-สะ-หฺวัด-อะ-นัน-ยะ-วง แยกศัพท์เป็น ดำรง + สวัสดิ์ + อนัญ + วงศ์
(๑) “ดำรง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ดำรง : (คำกริยา) ทรงไว้, ชูไว้, ทำให้คงอยู่, เช่น ดำรงวงศ์ตระกูล ดำรงธรรม, คงอยู่ เช่น ประเทศชาติจะดำรงอยู่ได้ด้วยความสามัคคี. (คำวิเศษณ์) ตรง, เที่ยง, มั่นคง, เช่น ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล. (แผลงมาจาก ตรง). (ข. ฎํรง่, ตมฺรง่).”
ในภาษาไทยมีคำที่มีความหมายทำนองเดียวกันนี้อีก คือ “ธำรง” และ “ทรง” (“ทรง” ที่หมายถึงตั้งอยู่ได้ เช่น ทรงตัว ไม่ใช่ “ทรง” ที่เป็นราชาศัพท์)
ดูเพิ่มเติม: “ธำรงวินัย” บาลีวันละคำ (1,994) 27-11-60
(๒) “สวัสดิ์”
บาลีเป็น “สุวตฺถิ” อ่านว่า สุ-วัด-ถิ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + อตฺถิ (= มี, เป็น)
(1) “อตฺถิ” เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) ลบที่สุดธาตุ + ติ (วิภัตติอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์) แปลง ติ เป็น ตฺถิ
: อสฺ > อ + ติ > ตฺถิ : อ + ตฺถิ = อตฺถิ แปลว่า ย่อมมี, ย่อมเป็น
(2) สุ + อตฺถิ :
สุ แผลงเป็น สุว + อตฺถิ หรือ สุ + ว (คำประเภท “อาคม”) + อตฺถิ : สุ + ว + อตฺถิ = สุวตฺถิ (สุ-วัด-ถิ)
(ลองออกเสียง สุ–อัตถิ เร็วๆ จะได้เสียง สุ-วัด-ถิ หรือ สฺวัด-ถิ)
“สุวตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ” เราเขียนอิงสันสกฤต จึงเป็น “สวัสดิ”
สุ–อตฺถิ = สุวตฺถิ > สฺวสฺติ > สวัสดิ แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “เป็นดี” หมายถึง ความสวัสดี, ความรุ่งเรือง, ความปลอดภัย; การอยู่ดี, การได้รับพร (well-being, prosperity, safety; well-being, blessing)
หมายเหตุ :
สุ + อตฺถิ ในบาลี ได้รูปเป็นอีกศัพท์หนึ่ง คือ “โสตฺถิ” กระบวนการทางไวยากรณ์คือ แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ
: สุ > โส + อตฺถิ = โสตฺถิ มีความหมายอย่างเดียวกับ สุวตฺถิ
“สุวตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ” เราเขียนอิงสันสกฤต จึงเป็น “สวัสดิ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “สวัสดิ์” “สวัสดี”
ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สวัสดิ-, สวัสดิ์ ๑, สวัสดี ๑ : (คำนาม) ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง; ความปลอดภัย เช่น ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอให้มีความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ขอให้มีความสุขสวัสดี ขอให้สวัสดีมีชัย. (ส. สฺวสฺติ; ป. โสตฺถิ).”
(๓) “อนัญ”
บาลีเป็น “อนญฺญ” อ่านว่า อะ-นัน-ยะ รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + อญฺญ
(ก) “อญฺญ” (อัน-ยะ) รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ญา (ธาตุ = รู้) + อ ปัจจัย, แปลง น เป็น อ, ซ้อน ญฺ ระหว่างนิบาตกับธาตุ (น + ญฺ + ญา), “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ญา (ญา > ญ)
: น > อ + ญฺ + ญา = อญฺญา > อญฺญ + อ = อญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาไม่รู้”
“อญฺญ” (คุณศัพท์) หมายถึง อื่น, ไม่เหมือนกัน, ต่างกัน, อันอื่น, คนอื่น (other, not the same, different, another, somebody else)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัญ-, อัญญะ : (คำวิเศษณ์) อื่น, ต่างไป, แปลกไป. (ป. อญฺญ; ส. อนฺย).”
(ข) น + อญฺญ แปลง น เป็น อน (อะ-นะ) ตามกฎการประสมคำ คือถ้าคำที่ “น” ไปประสมขึ้นต้นด้วยสระ คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อน”
ในที่นี้ “อญฺญ” ขึ้นต้นด้วย อ– (บาลีถือว่าเป็นสระ) ดังนั้นจึงต้องแปลง “น” เป็น “อน”
: น > อน + อญฺญ = อนญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ไม่ใช่อันอื่น”, “มิมีผู้อื่น”, “ไม่มีคนอื่นอีก” (not another) หมายถึง –
(1) อย่างเดียวกัน, อันเดียวกันนั่นเอง, เหมือนกัน (the same, self-same, identical)
(2) คนเดียว, ตัวเอง, เพียงคนเดียว (alone, by oneself, oneself only)
(3) ไม่อีก, คนเดียว, โทน หรือโดดเดี่ยว (no more, only, alone)
“อนญฺญ” ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (1) หมายถึง เป็นพวกเดียวกัน ไม่มีคนอื่นมาปะปน (unmixed, unadulterated)
“อนญฺญ” ในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อนัญ”
(๔) “วงศ์”
บาลีเป็น “วํส” (วัง-สะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) วนฺ (ธาตุ = คบหา) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ (ที่ (ว)-นฺ เป็นนิคหิต (วนฺ > วํ)
: วนฺ + ส = วนส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่แผ่ออกไป” (คือเมื่อ “คบหา” กันต่อๆ ไป คนที่รู้จักกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น)
(2) วสฺ (ธาตุ = อยู่) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (วสฺ > วํส)
: วสฺ + อ = วส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “อยู่รวมกัน”
“วํส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ไม้ไผ่ (a bamboo)
(2) เชื้อชาติ, เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล (race, lineage, family)
(3) ประเพณี, ขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา, ทางปฏิบัติที่เป็นมา, ชื่อเสียง (tradition, hereditary custom, usage, reputation)
(4) ราชวงศ์ (dynasty)
(5) ขลุ่ยไม้ไผ่, ขลุ่ยผิว (a bamboo flute, fife)
(6) กีฬาชนิดหนึ่งซึ่งอุปกรณ์การเล่นทำด้วยไม้ไผ่ (a certain game)
ในที่นี้ “วํส” มีความหมายตามข้อ (2) และ (4)
บาลี “วํส” สันสกฤตเป็น “วํศ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วงศ” เขียนเป็น “วงศ์” และแผลงเป็น “พงศ์” ด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วงศ-, วงศ์ : (คำนาม) เชื้อสาย, เหล่ากอ, ตระกูล. (ส. วํศ; ป. วํส).”
การประสมคำ :
(๑) ดำรง + สวัสดิ์ = ดำรงสวัสดิ์ เป็นการประสมแบบคำไทย แปลความว่า “คงความสุขสวัสดีไว้ได้” หรือ “สถานที่ซึ่งทำให้ความสุขสวัสดีมีอยู่ตลอดไป”
(๒) อนัญ + วงศ์ = อนัญวงศ์ แปลว่า “วงศ์ที่ไม่มีใครอื่นมาแปลกปน” หมายถึง คนที่เป็นพงศ์เผ่าเดียวกัน เช่นเกิดในตระกูลเดียวกัน ไม่มีสายเลือดอื่นมาเจือปน ตรงกับคำที่เราคุ้นกันคำหนึ่งเมื่อพูดถึงกษัตริย์ คือ “อสัมภินพงศ์” (เชื้อสายที่ไม่เจือปน) เป็นคำแสดงถึงเผ่าพงศ์ที่บริสุทธิ์ของกษัตริย์
(๓) ดำรงสวัสดิ์ + อนัญวงศ์ = ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ แปลรวมความว่า พระที่นั่งซึ่งเจ้านายในพระราชวงศ์เดียวกันประทับเป็นสุขสวัสดีตลอดมา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเมตตามีในหัวใจเต็มตื่น
: ก็ไม่มีคนอื่น มีแต่พวกเดียวกัน
#บาลีวันละคำ (2,441)
17-2-62