บาลีวันละคำ

นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร (บาลีวันละคำ 2442)

นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร

…………..

ในพระบรมมหาราชวังมีพระที่นั่งหมู่หนึ่ง ตั้งชื่อคล้องจองกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งนับได้ถึง 10 ชื่อ ดังนี้ –

(1) มูลสถานบรมอาสน์

(2) สมมติเทวราชอุปบัติ

(3) ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์

(4) นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร

(5) บรมราชสถิตยมโหฬาร

(6) อมรพิมานมณี

(7) สุทธาศรีอภิรมย์

(8) บรรณาคมสรนี

(9) ปรีดีราชวโรทัย

(10) เทพดนัยนันทยากร

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำชื่อพระที่นั่งแต่ละองค์มาแยกศัพท์และแปลสู่กันฟังตามสติปัญญา เพื่อเป็นอลังการทางภาษาและเป็นเครื่องประเทืองปัญญาตามสมควร

อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อพระที่นั่งเหล่านี้เป็นวิสามานยาม (proper name) การแยกศัพท์และแปลจึงกระทำไปเท่าที่ตาเห็น ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาของผู้ตั้งชื่อก็เป็นได้

อีกประการหนึ่ง ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แยกศัพท์และแปลความหมายเท่านั้น มิได้แสดงรายละเอียดอื่นๆ ของพระที่นั่งแต่ละองค์ประกอบไว้ด้วย

ดังนั้น หากญาติมิตรท่านใดมีข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่แสดงไว้ก็ดี มีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งแต่ละองค์ก็ดี หากจะกรุณานำมาร่วมเสนอไว้เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร” อ่านตามหลักการคำสมาสว่า นิ-พัด-ทะ-พง-ถา-วอ-ระ-วิ-จิด

แต่อาจจะอ่านแบบคล่องปากก็ได้ว่า นิ-พัด-พง-ถา-วอน-วิ-จิด

นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร” แยกศัพท์เป็น นิพัทธ + พงศ์ + ถาวร + วิจิตร

(๑) “นิพัทธ

บาลีเขียน “นิพทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า นิ-พัด-ทะ รากศัพท์มาจาก –

(1) นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง, ไม่มี, ออก) พธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุคือ ธฺ กับ เป็น ทฺธ

: นิ + พธฺ = นิพธฺ + = นิพธต > นิพทฺธ

(2) นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง, ไม่มี, ออก) พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + ปัจจัย, ลบ ที่ พนฺธฺ (พนฺธ > พธฺ), แปลงที่สุดธาตุคือ ธฺ กับ เป็น ทฺธ

: นิ + พนฺธฺ = นิพนฺธฺ + = นิพนฺธต > นิพธต > นิพทฺธ

นิพทฺธ” แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาผูกแล้ว” เป็นคุณศัพท์และใช้เป็นคำกริยาวิเศษณ์ ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ตรึงตรา, มั่นคง, แน่นอน (fixed, stable, sure)

(2) ซึ่งขอ, เร่งเร้า หรือกระตุ้น (asked, pressed, urged)

(3) เป็นเนืองนิตย์, เสมอ, เรื่อยไป, เป็นประจำ (constantly, always, continually)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิพัทธ-, นิพัทธ์ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) เนือง ๆ, เสมอ, เนื่องกัน. (ป.).”

ข้อสังเกต :

นิพทฺธ” ในบาลีเมื่อใช้เป็นคำกริยาวิเศษณ์ เปลี่ยนรูปเป็น “นิพทฺธํ” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “เนืองนิตย์” คือทำหรือเป็นเช่นนั้นอยู่เป็นประจำ เทียบคำอังกฤษที่เราคุ้นคือ always

แต่ “นิพัทธ” ในที่นี้ น้ำหนักของคำใกล้ไปทาง “สันตติ” คือเน้นไปที่การสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย (continuity)

นิพัทธพงศ์” จึงมีความหมายคล้าย “สันตติวงศ์” ที่เราค่อนข้างคุ้นกันดี

(๒) “พงศ์

บาลีเป็น “วํส” (วัง-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) วนฺ (ธาตุ = คบหา) + ปัจจัย, แปลง นฺ (ที่ (ว)-นฺ เป็นนิคหิต (วนฺ > วํ)

: วนฺ + = วนส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่แผ่ออกไป” (คือเมื่อ “คบหา” กันต่อๆ ไป คนที่รู้จักกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น)

(2) วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (วสฺ > วํส)

: วสฺ + = วส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “อยู่รวมกัน

วํส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ไม้ไผ่ (a bamboo)

(2) เชื้อชาติ, เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล (race, lineage, family)

(3) ประเพณี, ขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา, ทางปฏิบัติที่เป็นมา, ชื่อเสียง (tradition, hereditary custom, usage, reputation)

(4) ราชวงศ์ (dynasty)

(5) ขลุ่ยไม้ไผ่, ขลุ่ยผิว (a bamboo flute, fife)

(6) กีฬาชนิดหนึ่งซึ่งอุปกรณ์การเล่นทำด้วยไม้ไผ่ (a certain game)

ในที่นี้ “วํส” มีความหมายตามข้อ (2) และ (4)

บาลี “วํส” สันสกฤตเป็น “วํศ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วงศ” เขียนเป็น “วงศ์” และแผลงเป็น “พงศ์” ด้วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พงศ-, พงศ์ : (คำนาม) เชื้อสาย, เทือกเถา, เหล่ากอ, สกุล. (ส.; ป. วํส).”

(๓) “ถาวร

บาลีอ่านว่า ถา-วะ-ระ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่) + วร ปัจจัย, แปลง เป็น

: ฐา + วร = ฐาวร > ถาวร แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ดำรงอยู่” หมายถึง ยั่งยืน, เคลื่อนที่ไม่ได้, มั่นคง, แข็งแรง (standing still, immovable, firm, strong)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ถาวร, ถาวร– : (คำวิเศษณ์) มั่นคง, ยั่งยืน, คงทน. (ป.).”

(๔) “วิจิตร

บาลีเป็น “วิจิตฺต” อ่านว่า วิ-จิด-ตะ (เป็น “วิจิตฺร” ก็มี) รากศัพท์มาจาก –

(1) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + จิตฺตฺ (ธาตุ = งดงาม, วิจิตร) + ปัจจัย

: วิ + จิตฺต = วิจิตฺต + = วิจิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งามวิจิตรเพราะสร้างขึ้นด้วยจิต

(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + จินฺตฺ (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, แปลง ที่ จินฺตฺ เป็น (จินฺตฺ > จิตฺต)

: วิ + จินฺต = วิจินฺต + = วิจินฺต > วิจิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนคิดไปต่างๆ

วิจิตฺต” เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) และใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ต่าง ๆ, เป็นรูปหลายอย่าง, หลากสี, วิจิตร (various, variegated, coloured, ornamented)

ในภาษาไทยใช้เป็น “วิจิตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิจิตร : (คำวิเศษณ์) งามประณีต. (ส.; ป. วิจิตฺต).”

การประสมคำ :

(๑) นิพัทธ + พงศ์ = นิพัทธพงศ์ แปลว่า “เจ้านายที่มีเผ่าพงศ์สืบทอดกันมา

(๒) ถาวร + วิจิตร = ถาวรวิจิตร แปลว่า (1) “มั่นคงและงดงาม” (2) “งดงามอยู่อย่างมั่นคง

นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร” แปลตามประสงค์ว่า “พระที่นั่งอันมั่นคงและงดงามเป็นที่ประทับแห่งเจ้านายที่มีเผ่าพงศ์สืบทอดกันมา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รูปโฉมอยู่ได้แค่ร้อยปี

: คุณความดีอยู่ไปชั่วนิรันดร

#บาลีวันละคำ (2,442)

18-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *