อาพาธ (บาลีวันละคำ 871)

อาพาธ
อ่านว่า อา-พาด
บาลีอ่านว่า อา-พา-ทะ
“อาพาธ” รากศัพท์มาจาก อา (ทั่ว, ยิ่ง) + พาธฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, ป่วน) + อ ปัจจัย
: อา + พาธฺ + อ = อาพาธ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เบียดเบียนอย่างยิ่ง” “อาการที่ทำให้ปั่นป่วน” หมายถึง ความไข้, ความเจ็บป่วย, โรคภัยไข้เจ็บ (affliction, illness, disease)
ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อาพาธ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาพาธ : (คำกริยา) เจ็บป่วย (ใช้แก่ภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”
ในคัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย แสดงสมุฏฐานของ “อาพาธ” ไว้ว่า –
(1) ปิตตสมุฏฺฐาน = เกิดจากน้ำดี
(2) เสมหสมุฏฺฐาน = เกิดจากเสมหะ
(3) วาตสมุฏฺฐาน = เกิดจากลม
(4) สันนิปาติกะ = เกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน
(5) อุตุปริณามชะ = เกิดจากเปลี่ยนอากาศ
(6) วิสมปริหารชะ = เกิดจากบริหารร่างกายไม่เหมาะสม
(7) โอปักกมิกะ = เกิดจากเหตุปัจจุบันทันด่วน เช่นอุบัติเหตุ
(8) กัมมวิปากชะ = เกิดจากผลกรรม
ในจักกวัตตสูตร กล่าวไว้ว่า เมื่อมนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปี มนุษย์จะมี “อาพาธ” เพียง 3 ชนิดเท่านั้น คือ –
(1) อิจฺฉา = ความอยากกิน
(2) อนสนํ = ความไม่อยากกิน
(3) ชรา = ความแก่
————
๏ เดชะพระไตรรัตน์
พระปรมัตถบารมี
เทวาทุกราศี
อัญเชิญช่วยอวยชัยถวาย
๏ ขอจงทรงพระเจริญ
พระชนม์เกินร้อยปีปลาย
อาพาธพินาศหาย
ภัยพาลพ่ายพระภูมิพล
๏ จงพระเสวยสวัสดิ์
พูนพิพัฒน์ผองศุภผล
พระหฤทัยไกลกังวล
ทุกทิพาราตรีกาล
๏ พระประสงค์ทุกสิ่งเสร็จ
แม้สรรเพชญพระโพธิญาณ
ดำรงรัชย์ชัชวาล
ดั่งเวียงสวรรค์นิรันดร์เทอญ๚ะ๛
#บาลีวันละคำ (871)
6-10-57
อยากถามว่าในปัญจวัคคิยสูตร ที่กล่าวว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นไปเพื่ออาพาธ หมายความว่าอย่างไร
ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็น
——————————————————————–
อาพาธ แปลตามศัพท์ว่า
“อาการที่เบียดเบียนอย่างยิ่ง”
“อาการที่ทำให้ปั่นป่วน”
หมายถึง ความไข้, ความเจ็บป่วย, โรคภัยไข้เจ็บ (affliction, illness, disease)
ในจักกวัตตสูตร (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๘) กล่าวไว้ว่า เมื่อมนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปี มนุษย์จะมี “อาพาธ” เพียง ๓ ชนิดเท่านั้น คือ –
(๑) อิจฺฉา = ความอยากกิน
(๒) อนสนํ = ความไม่อยากกิน
(๓) ชรา = ความแก่
แสดงว่า “อาพาธ” ในบาลี มีความหมายกว้างมากกว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย
………………..
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายว่า –
ยํ หิ อนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ อตฺตโนปิ อนิจฺจตํ วา อุทยพฺพยปฏิปีฬนํ วา วาเรตุํ น สกฺโกติ กุโต ตสฺส การกาทิภาโว ฯ เตนาห รูปญฺจ หีทํ ภิกฺขเว อตฺตา อภวิสฺส นยิทํ รูปํ อาพาธาย สํวตฺเตยฺยาติอาทิ ฯ
เพราะรูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นย่อมเป็นทุกข์ ไม่อาจห้ามความไม่เที่ยง หรือความเกิด ความเสื่อม ความถูกบีบคั้น แม้ของตนเองได้ ก็แล้วความเป็นผู้สร้างเป็นต้นแห่งรูปนั้นจักมีที่ไหนเล่า (หมายความว่า ขันธ์ห้านี้ป้องกันตัวเองก็ยังทำไม่ได้ แล้วจะไปสร้างนั่นสร้างนี่ได้อย่างไร) เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็หากรูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ” ดังนี้เป็นอาทิ.
ที่มา: วิสุทธิมรรค ภาค ๓ หน้า ๒๓๖ (มคฺคามคฺคญาณทสฺสนวิสุทฺธินิทฺเทส)
………………..
คำว่า “เป็นไปเพื่ออาพาธ” จึงหมายถึง –
อะไรที่อยากมี อยากได้ อยากเป็น จะให้มี ให้ได้ ให้เป็น อย่างที่อยาก ก็ไม่ได้
อะไรที่มีอยู่แล้ว ได้อยู่แล้ว เป็นอยู่แล้ว ไม่พอใจ อยากจะให้มันพ้น ๆ หมด ๆ ไปเสีย ก็ไม่ได้อย่างที่อยาก
บังคับให้เป็นไปอย่างใจ ก็ไม่ได้
ป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่ต้องการ ก็ไม่ได้
อึดอัดขัดข้องไปทุกสิ่งทุกอย่าง
อาการทั้งปวงอย่างนี้แหละ ท่านเรียกว่า “เป็นไปเพื่ออาพาธ”
แบบเดียวกับคนป่วย ทำอะไรก็ทำไม่ได้อย่างที่ใจอยากทำ