สงสาร (บาลีวันละคำ 872)
สงสาร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สงสาร ๑, สงสาร– : (คำนาม) การเวียนว่ายตายเกิด, การเวียนตายเวียนเกิด; โลก. (ป., ส. สํสาร).
(2) สงสาร ๒ : (คำกริยา) รู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น, รู้สึกห่วงใยด้วยความเมตตากรุณา, เช่น เห็นเด็ก ๆ อดอยากก็รู้สึกสงสาร เห็นเขาประสบอัคคีภัยแล้วสงสาร.
คนส่วนมากเข้าใจความหมายของ “สงสาร” ตามข้อ (2) คือ “รู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น”
“สงสาร” ตามข้อ (1) พจน.54 บอกว่ามาจากบาลีสันสกฤต
แต่ไม่ได้บอกว่า “สงสาร” ตามข้อ (2) มาจากภาษาอะไร
“สงสาร” ในบาลีเขียน “สํสาร” อ่านว่า สัง-สา-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อม) + สรฺ (ธาตุ = ไป, แล่นไป, ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ
: สํ + สรฺ = สํสร + ณ = สํสร > สํสาร แปลตามศัพท์ว่า “การแล่นไปพร้อม”
ขยายความตามคำวิเคราะห์ของท่านว่า ชีวิตที่เกิดตาย-ตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จากภพนี้ไปภูมินั้น จากภพนั้นไปภูมิโน้น ทั้งนี้ด้วยพลังของกรรมและกิเลส เมื่อทำดีทำชั่วใดๆ ก็หอบหิ้วเอาดีชั่วนั้นๆ ไปพร้อมกับตน อาการเช่นนี้แหละเรียกว่า “สํสาร”
“สํสาร” จึงหมายถึง การเดินทาง, การท่องเที่ยวไป, การเคลื่อนไป, การหมุนเวียน, การเวียนว่ายตายเกิด (moving on, transmigration, faring on, circulation)
ผู้รู้ท่านว่า :
เอากระดูกของคนที่เวียนว่ายตายเกิดแต่ละภพชาติมากองรวมกัน เฉพาะของคนคนเดียวก็สูงกว่าภูเขาหิมาลัย
น้ำตาของคนที่ร้องไห้ ถ้ารองเก็บไว้ เฉพาะของคนคนเดียวก็มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งโลก
ถ้าเอาภาพที่หัวเราะกับร้องไห้ตั้งแต่เกิดจนตายเพียงชาติเดียวของคนคนหนึ่งมาตัดต่อสลับกันแล้วฉายดูเหมือนฉายหนัง เราก็จะเห็นภาพคนบ้าที่น่าสงสารคนหนึ่ง
ถ้าจะ “ลากเข้าวัด” ก็อธิบายว่า “สํสาร” คือการเวียนว่ายตายเกิดเป็นความทุกข์ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ท่านห่วงใยเพื่อนมนุษย์ เราจึงเอาคำว่า สํสาร = สงสาร มาใช้ในความหมายว่า “รู้สึกเห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น”
“สงสาร” ตามข้อ (2) ข้างต้น จึงน่าจะมาจาก “สํสาร” ในบาลีนั่นเอง
สํสาร > สงสาร :
เดี๋ยวหัวเราะยิ้มย่องเดี๋ยวร้องไห้
ดูดูไปเหมือนค้นบ้าน่าสงสาร
ยังเวียนวนแหวกว่ายในสายธาร
กี่วันวารจึงจะพ้นจากวนเวียน
#บาลีวันละคำ (872)
7-10-57