บาลีวันละคำ

พเนจร (บาลีวันละคำ 870)

พเนจร

อ่านว่า พะ-เน-จอน

เทียบบาลีเป็น “วเนจร” อ่านว่า วะ-เน-จะ-ระ

ประกอบด้วย วเน + จร

วเน” รูปคำเดิมคือ “วน” (วะ-นะ) แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกย่อมเสพอาศัย” ความหมายที่รู้กันเป็นสามัญคือ ป่า, ดง, สวน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วน” แบบขยายความว่า the forest; wood; as a place of pleasure & sport (ป่า; ป่าไม้; เป็นสถานที่รื่นรมย์และกีฬา)

เมื่อเอา “วน”(วะ-นะ) ไปแจกรูปด้วยวิภัตตินาม (ตามกฎที่รู้กันว่า “บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย”) เป็น “วเน” (วะ-เน) คราวนี้ไม่ได้แปลว่า “ป่า” เฉยๆ ต้องแปลว่า “ในป่า

จร” แปลว่า “ผู้เที่ยวไป

วเน + จร ถ้าพูดเป็นประโยคก็ว่า –

วเน จรติ อิติ วเนจโร = ผู้ใดเที่ยวไปในป่า เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า วเนจโร

วเนจโร = วเนจร แปลว่า “ผู้เที่ยวไปในป่า

ปกติคำนี้ต้องลบวิภัตติที่ “วเน” ออก เป็น “วน” ตามเดิม : วเน + จร = วนจร

แต่ “วเนจร” เป็นคำพิเศษ สมาสกันแล้วคงวิภัตติไว้ ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อลุตตสมาส” = สมาสชนิดไม่ลบวิภัตติ

วเนจร” ในภาษาไทยแปลง เป็น ตามหลักนิยมที่เราคุ้นกันดี เป็น “พเนจร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

พเนจร : (คำนาม) ผู้เที่ยวป่า, พรานป่า; โดยปริยายหมายความว่า ร่อนเร่ไป, เที่ยวไปโดยไร้จุดหมาย. (ป., ส. วเนจร).”

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขคำนิยามใหม่เป็น –

พเนจร : (คำนาม) คนเที่ยวป่า, พรานป่า; โดยปริยายหมายความว่า เที่ยวไปเรื่อยๆ เช่น ชายพเนจร. (ป., ส. วเนจร).”

โปรดสังเกต : พเนจร

(1) ตามศัพท์และความหมายเดิมคือ “เที่ยวไปในป่า” = พรานป่า (a forester)

(2) ความหมายโดยปริยายในภาษาไทย –

เดิมบอกว่า “ร่อนเร่ไป, เที่ยวไปโดยไร้จุดหมาย

แก้ไขใหม่เป็น “เที่ยวไปเรื่อยๆ

: ชีวิตคือการพเนจรในวัฏสงสาร

: ถ้ายังเป็นปุถุชนก็ต้องเวียนวนอีกนานแสนนาน

#บาลีวันละคำ (870)

5-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *